กรมวิทย์ฯ ชูต้นแบบเขตสุขภาพที่ 7 พัฒนาเครือข่ายห้องแล็ป เร่งยุติวัณโรคหวังค้นหาผู้ป่วยรายใหม่อย่างมีประสิทธิภาพ

0
438
image_pdfimage_printPrint

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า สถานการณ์วัณโรคในเขตสุขภาพที่ 7 ระหว่างปีงบประมาณ 2559 – 2561 มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และที่กลับเป็นซ้ำมารักษาที่โรงพยาบาล เป็นจำนวนเฉลี่ย 6,347 รายต่อปี ซึ่งถือว่าอัตราความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรคยังไม่บรรลุเป้าหมาย ขณะที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้เร่งรัดในการยุติปัญหาวัณโรค ในส่วนของเขตสุขภาพที่ 7(จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม และร้อยเอ็ด) มีการดำเนินการร่วมกันอย่างเข้มแข็ง ทั้งการรณรงค์ค้นหาวัณโรคในกลุ่มเสี่ยงทุกพื้นที่ เช่น ผู้สัมผัสวัณโรค ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขังในเรือนจำ ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ ซึ่งควบคุมระดับน้ำตาลไม่ได้ บุคลากรสาธารณสุข แรงงานต่างด้าว เป็นต้น ส่งผลให้ปริมาณตัวอย่างที่ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการมีจำนวนมากเกินขีดความสามารถในการตรวจซึ่งปัจจุบันใช้วิธี Xpert/RIF ที่ตรวจได้ไม่เกิน 4 ตัวอย่าง ต่อรอบ หรือไม่เกิน 16 ตัวอย่างต่อวัน ส่งผลให้การรายงานผลไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด ประกอบกับการสนับสนุนน้ำยาตรวจ Xpert/RIF จากกองทุนโลก (Global Fund) จะสิ้นสุดลงในปี พ.ศ. 2563
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 ขอนแก่น จึงได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ในการบูรณาการกับเครือข่ายห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยวัณโรคในเขตสุขภาพที่ 7 ประกอบด้วย สำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 7 ขอนแก่น โรงพยาบาลขอนแก่น ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ และมหาสารคาม เพื่อพัฒนาขีดความสามารถการตรวจวัณโรคด้วยวิธี TB-LAMP ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่องค์การอนามัยโลก (WHO)ได้แนะนำสำหรับการตรวจคัดกรองผู้ป่วยวัณโรค ที่มีข้อดีคือใช้เวลาทดสอบสั้น มีความไวและความจำเพาะสูง เป็นเทคนิค ที่ง่ายในการทดสอบ ใช้เครื่องมือพื้นฐานที่ไม่ซับซ้อน และตรวจได้มากกว่า 20 ตัวอย่างต่อรอบหรือมากกว่า 60 ตัวอย่างต่อวัน รวมทั้งการตรวจวัดผลง่ายไม่ยุ่งยาก โดยมีค่าใช้จ่ายไม่เกิน 200 บาทต่อการทดสอบ ซึ่งถูกกว่าวิธี Xpert/RIF ที่มีราคา 700 บาทต่อการทดสอบ
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวอีกว่า ในปีงบประมาณ 2562 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข ให้การสนับสนุนน้ำยา TB-LAMP ที่สถาบันฯ พัฒนาขึ้นเอง และงบประมาณสำหรับการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ของห้องปฏิบัติการในเขตสุขภาพที่ 7 ดังนั้น ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 7 จึงได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เรื่องการตรวจวัณโรคทางห้องปฏิบัติการด้วยเทคนิค Tuberculosis-loop mediated isothermal amplification (TB-LAMP) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรห้องปฏิบัติการทางการแพทย์เครือข่ายต่างๆ ในเขตสุขภาพที่ 7 ให้สามารถตรวจค้นหาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและรวดเร็วกว่าเดิม ซึ่งจะสนับสนุนให้มาตรการยุติวัณโรคมีโอกาสสำเร็จเร็วขึ้น