ได้เวลา โรงเรียน-นักเรียน-ครู-ผู้ปกครอง-ต้องรวมใจเป็นหนึ่ง เพื่อ…อนาคตการศึกษาของเยาวชนไทย

0
320
image_pdfimage_printPrint

วันนี้มีหลายหน่วยงานออกมายอมรับถึงมาตรฐานการศึกษาของไทยว่าคุณภาพการศึกษาไทยต่ำลง ถ้ามีการวิเคราะห์กันอย่างถี่ถ้วน เราจะพบว่า ความผิดไม่ได้อยู่ที่หลักสูตร ครู นักเรียน โรงเรียน หรือเป็น                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                  เพราะพ่อแม่ไม่ได้เอาใจใส่ลูกหลาน แต่เป็นผลรวมของปัญหาทั้งหมดเราต้องมาหันมามองดูกันอย่างจริงจัง ว่าวันนี้ ได้เวลาที่ โรงเรียน นักเรียน ครูและผู้ปกครองต้องรวมใจเป็นหนึ่งกันหรือยังที่จะขับเคลื่อนกลไกด้านการศึกษาเพื่อยกระดับคุณภาพอนาคตการศึกษาไทยต่อไปกันหรือยัง

145

คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี นำโดย นายกุลวัฏ คล้ายหนองสรวง  จัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการ หัวข้อ “การสร้างทีมงานและทำแผนงานของเครือข่ายผู้ปกครอง โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี สู่ความเป็นเลิศ”  อันเกิดจากวิสัยทัศน์ของเครือข่ายผู้ปกครองที่ว่า “เครือข่ายเข้มแข็ง พัฒนาความร่วมมือ ส่งเสริมการศึกษา”  มีจุดมุ่งหมายเพื่อวางระบบมาตรฐานการทำงานของเครือข่ายฯสู่ความเป็นเลิศ อันจะนำไปสู่ภารกิจสำคัญของเครือข่ายฯ คือ การสร้างความสัมพันธ์อันดีของเครือข่ายผู้ปกครอง การขับเคลื่อนกลไกแห่งความร่วมมือในการดูแลช่วยเหลือนักเรียนร่วมกัน ระหว่างผู้ปกครอง ครู และโรงเรียน ด้วยการจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการศึกษา สนับสนุนโครงการบำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคม และส่งเสริมสนับสนุนอัตลักษณ์ของโรงเรียน ให้รู้จัก “การเป็นผู้นำ รักเพื่อน นับถือพี่ เคารพครู กตัญญูพ่อแม่ ดูแลน้อง”  ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองและการศึกษาได้อย่างเต็มศักยภาพ

โดยไม่มุ่งเน้นให้เด็กเรียนเก่งด้านเดียว หรือมีไอคิวสูงแต่ขาดอีคิว ซึ่งจะทำให้เด็กไม่สามารถเรียนรู้การอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ในปัจจุบันพบว่า อีคิวมีบทบาทเด่นชัดในแวดวงการศึกษา เพราะที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ามีเด็กที่เรียนเก่งจำนวนไม่น้อยไม่สามารถปรับตัวเข้ากับคนอื่นๆได้ ทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เด็กสอบได้เกรดเฉลี่ยไม่ดีแล้วฆ่าตัวตาย กรณีเช่นนี้ไม่ใช่ปัญหาของเด็กคนนั้นอย่างเดียว แต่หมายถึงสังคมหรือกลไกการศึกษาที่ละเลยเรื่องความสามารถทางอารมณ์ด้วย

แดเนียล โกลแมน นักจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้เขียนเป็นหนังสือเรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) และได้ให้ความหมายของอีคิวว่า เป็นความสามารถหลายด้าน ได้แก่ การเร่งเร้าตัวเองให้ไปสู่เป้าหมาย มีความสามารถควบคุมความขัดแย้งของตนเอง รอคอยเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่า มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น สามารถจัดการกับอารมณ์ไม่สบายต่าง ๆ มีชีวิตอยู่ด้วยความหวัง นอกจากนี้จากการวิจัยพบว่า คนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต อีคิวมักจะนำไอคิว ซึ่งขณะนี้อีคิวสามารถวัดได้จากแบบทดสอบโดยประเมินจากบุคลิกภาพ ถ้าประเมินแล้วพบว่าอีคิวไม่ดีก็สามารถแก้ไขได้ โดยขั้นแรกพ่อแม่ต้องแสดงออกถึงความรักที่ถูกทาง ต้องสอนให้เด็กรู้จักรอคอย ฝึกการอดทน สอนให้แก้ไขสถานการณ์ต่างๆ ฝึกให้เป็นคนยืดหยุ่น มองโลกในแง่ดี รู้จักการให้ การเสริมสร้างอีคิวแก่เด็กไม่ใช่เรื่องยากหากพ่อแม่เป็นแบบอย่างที่ดี

จากกการสัมมนาในครั้งนี้ทำให้มองเห็นถึงความพร้อมในการร่วมมือร่วมใจ ในการต่อยอดโครงการต่าง ๆ ที่จะสามารถสนับสนุนให้โรงเรียนได้พัฒนาตามนโยบายที่ได้ตั้งไว้ ประกอบกับที่ผ่านมา นายพิศณุ ศรีพล    ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี มักกล่าวกับผู้ปกครองเสมอว่า “โรงเรียนดีไม่มีขาย อยากได้ต้องช่วยกัน” เป็นอีกหนึ่งภารกิจที่เครือข่ายผู้ปกครองฯ ต้องรวมใจเป็นหนึ่งในการสนับสนุนกิจกรรมต่าง ๆ ที่โรงเรียนจัดทำขึ้น ส่วนหน้าที่หลักด้านการศึกษา และวิชาการ การเรียนการสอน เราต้องให้โรงเรียนได้ปรับกระบวนการเรียนการสอนวิชาหลัก และการพัฒนากระบวนการคิดให้ผู้เรียนต่อไป  อันเป็นบริบท และหน้าที่โดยตรงของโรงเรียนที่ได้จัดวางแนวทางไว้

หากวันนี้ การศึกษาขั้นพื้นฐานเป็นตัวชี้วัดเกี่ยวกับขีดความสามารถของชาติในอนาคต จึงได้เวลาแล้วที่ โรงเรียน-นักเรียน-ครู-ผู้ปกครอง-ต้องรวมใจเป็นหนึ่ง  เพื่อ…อนาคตการศึกษาของเยาวชนไทย

                                                ******************************

ที่มา : กรมสุขภาพจิต. (2543). คู่มือความฉลาดทางอารมณ์. กรุงเทพฯ : กระทรวงสาธารณสุข

เรียบเรียงโดย : จตุพร ธัมมปที / คณะกรรมการเครือข่ายผู้ปกครองโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี  / สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

โทร. 0867115888 E-mail: jee_md@hotmail.com เข้าชมโรงเรียนและกิจกรรมต่างได้ที่ : www.sk-thonburi.ac.th , www.facebook.com/SKTParentNetwork