อัตราการแข่งขันและการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้นำธุรกิจทั่วโลกเริ่มกังวล

0
242
image_pdfimage_printPrint

รายงาน “เครื่องชี้วัดนวัตกรรมระดับโลกประจำปี 2556” ของจีอี

(2013 GE Global Innovation Barometer)

เผยถึงภาวะที่เรียกว่า “ความสับสนจากนวัตกรรม (Innovation Vertigo)”

ที่เกิดจากการที่ผู้บริหาร ต้องพยายามรับมือกับ

ความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป

 

  • ผู้บริหารส่วนใหญ่สนับสนุนนโยบายกีดกันทางการค้า
  • รูปแบบทางธุรกิจใหม่ๆ จะเกิดขึ้นอย่างมากในระดับโลก
  • นวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการทำงานหรือร่วมมือกันเป็นสิ่งที่ดึงดูดความสนใจ

ของทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ต่างๆ

  • กรอบนโยบายที่ชัดเจนช่วยปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ
  • ความกังวลระดับต้นๆ ขององค์กรธุรกิจคือการเตรียมความพร้อมของบุคลากรและการเคลื่อนย้ายแรงงานที่มีศักยภาพ

 

กรุงเทพฯ ประเทศไทย: วันที่ 4 มีนาคม 2556 – จีอี (NYSE: GE) เปิดเผยรายงานประจำปีเกี่ยวกับเครื่องชี้วัดนวัตกรรมระดับโลก “Global Innovation Barometer” ฉบับที่ 3

ซึ่งพบว่าในขณะที่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจยังคงให้ความสำคัญกับกลยุทธ์ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม แต่ 1 ใน 3 ของผู้บริหารมีความกังวลเกี่ยวกับความสามารถในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นโลกาภิวัฒน์มากขึ้น รวมถึงข้อจำกัดในด้านทรัพยากรบุคคล

 

“Innovation Vertigo” ที่เกิดขึ้นนี้ เป็นสภาวะของความกังวลของผู้บริหารเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของธุรกิจ และความไม่แน่นอนของแนวทางที่เหมาะสมที่จะใช้ต่อไป สภาวะที่ว่านี้

ท้าทายผู้บริหารให้คิดหาวิธีใหม่ๆ ที่จะทำให้ธุรกิจเติบโต อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารจำนวนมากพยายามรับมือกับความซับซ้อนที่ว่านี้ ด้วยการมองหาโอกาสใหม่ๆ รวมไปถึงโอกาสที่ไม่คาดคิด

มาก่อน เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรม

 

 

 

นางเบธ คอมสต็อก รองประธานอาวุโสและประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของจีอี กล่าวว่า

“ผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมจะต้องมีความตื่นตัวอยู่เสมอ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถก้าวตามคนอื่นได้ทัน ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และผู้บริหารจำนวนมากตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงด้วยการปรับใช้แนวทางที่แปลกใหม่ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อกระตุ้นการเติบโต  สำหรับจีอี เราขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างๆ รวมถึงโครงสร้างด้านความร่วมมือ และรูปแบบธุรกิจต่างๆ โดยทั้งหมดนี้รองรับการค้นหารูปแบบใหม่ๆ เพื่อปรับปรุงการให้บริการแก่ลูกค้า และรับมือกับความท้าทายสำคัญๆ ที่รออยู่เบื้องหน้า”

 

รายงานเครื่องชี้วัดนี้ ดำเนินการโดยบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาอิสระ StrategyOne ภายใต้การสนับสนุนจากจีอี โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสำรวจว่าผู้บริหารองค์กรธุรกิจทั่วโลกมีทัศนะอย่างไรเกี่ยวกับปัจจัยขับเคลื่อนและอุปสรรคที่ขัดขวางการสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงผลกระทบจากมุมมองดังกล่าวต่อการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร สำหรับในปีนี้ จีอีได้ขยายการศึกษา ด้วยการสอบถามความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงกว่า 3,000 คนใน 25 ประเทศทั่วโลก โดยผู้บริหารทั้งหมดนี้มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับกลยุทธ์การสร้างสรรค์นวัตกรรม รวมถึงการตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ในบริษัทฯ ของตน

 

ความเสี่ยงของนโยบายกีดกันทางการค้า

 

ผู้บริหารจำนวนมากไม่แน่ใจว่า อะไรคือวิธีที่เหมาะสมสำหรับตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป ผู้บริหารส่วนใหญ่นำนโยบายกีดกันทางการค้า มาปรับใช้เพื่อลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้น

ต่อธุรกิจและเศรษฐกิจในท้องถิ่นของตน   71 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสำรวจระบุว่ารัฐบาลของตนควรให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมในประเทศ แทนที่จะนำเข้ามาจากประเทศอื่น ขณะที่ผู้บริหารจำนวน 71 เปอร์เซ็นต์ระบุว่ารัฐบาลควรเปิดตลาดและส่งเสริมการลงทุนและนวัตกรรมที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ มีส่วนทับซ้อนกัน 53 เปอร์เซ็นต์ระหว่างสองมุมมองที่ตรงกันข้ามนี้

 

  • ผู้บริหารในเม็กซิโก (80 เปอร์เซ็นต์) อินเดีย (56 เปอร์เซ็นต์) และบราซิล (50 เปอร์เซ็นต์) สนับสนุนทั้งนโยบายตลาดเปิดและตลาดปิด เพื่อเป็นหนทางในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

ที่ดีขึ้น

 

 

 

นายคาราน บาเทีย รองประธานและที่ปรึกษาอาวุโส ฝ่ายกิจการภาครัฐและนโบบายระดับโลก

ของจีอี กล่าวว่า  “ตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินโลก เรารู้สึกเป็นกังวลว่าความผันผวนทางเศรษฐกิจ

จะบั่นทอนข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีระหว่างประเทศ  รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าแม้กระทั่งในหมู่ผู้บริหารองค์กรธุรกิจ ก็เห็นว่าอาจเป็นการยากที่จะคัดค้านนโยบายกีดกันทางการค้า”

 

มองให้ไกลเกินกว่าเรื่องของการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์

 

ในอดีตการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้กับผลิตภัณฑ์เป็นปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโตของบริษัทต่างๆ แต่ปัจจุบัน นวัตกรรมในการดำเนินธุรกิจต่างๆ  เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญและเป็นหนทาง

ที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ การสร้างสรรค์รูปแบบธุรกิจแบบใหม่อาจนำเสนอหนทางที่มีความเสี่ยง

น้อยกว่า และใช้ทรัพยากรน้อยกว่า เพื่อสร้างความเข้าใจและเข้าถึงลูกค้าได้มากกว่าวิธีการแบบเดิมๆ เช่นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ

 

  • 52 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่า การพัฒนารูปแบบธุรกิจใหม่ๆ จะช่วยส่งเสริมผลประกอบการของบริษัทให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเพิ่มขึ้น 6 จุดเมื่อเทียบกับการพัฒนาแบบเดิมๆ
  • ขณะที่ผู้บริหารทั่วโลกระบุว่าการลงทุนภาคเอกชนมีจำนวนลดลง แต่ในเยอรมนีและสหราชอาณาจักร มีการลงทุนเพิ่มมากขึ้น

การทำงานร่วมกันเพื่อความได้เปรียบด้านการแข่งขัน

 

การทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรธุรกิจเริ่มกลายเป็นหนทางในการเอาชนะคู่แข่งและสร้างรายได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ต่าง ๆ  อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ทั่วโลกจะยอมรับในพลังของความร่วมมือ แต่การขาดมาตรการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ ความน่าเชื่อถือ และการแย่งชิงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ ถือเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางการดำเนินการนี้

 

  • 87 เปอร์เซ็นต์เชื่อมั่นว่าบริษัทของตนจะประสบความสำเร็จได้มากขึ้นด้วยการสร้างสรรค์นวัตกรรมโดยอาศัยความร่วมมือและการทำงานร่วมกัน และ 68 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าบริษัทของตนได้พัฒนาหรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์โดยอาศัยการร่วมมือกับองค์กรอื่นๆ  ทั้งนี้ เยอรมนี จีน บราซิล และสวีเดน มีประสบการณ์มากที่สุดในเรื่องความร่วมมือ
  • เหตุผลสำคัญสำหรับการทำงานร่วมกับบริษัทอื่นๆ ได้แก่ การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ (79 เปอร์เซ็นต์) และเข้าถึงตลาดใหม่ๆ (79 เปอร์เซ็นต์) ขณะที่โดยเฉลี่ย 64 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าความไร้ประสิทธิภาพในการเก็บรักษาข้อมูลลับหรือการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา

เป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด ตามมาด้วยปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ (47 เปอร์เซ็นต์) และการแย่งชิงบุคลากร (45 เปอร์เซ็นต์)

 

รัฐบาลทำหน้าที่ดูแลสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 

ผู้บริหารองค์กรธุรกิจทั่วโลกเป็นกังวลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมด้านนโยบายที่ส่งผลกระทบ

ต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเรียกร้องให้ผู้กำหนดนโยบายสร้างกรอบโครงสร้างนโยบายที่มั่นคงและส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมในตลาดต่างๆ รวมถึงในระดับสากล  ผู้บริหารมองว่า

การปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจ เช่น บุคลากร ความรู้ ทรัพย์สินทางปัญญา และการขจัดอุปสรรคทางด้านนโยบาย เช่น ระบบราชการที่เชื่องช้า กฎระเบียบที่เข้มงวดจนเกินไป เป็นกุญแจสำคัญ

ในการกระตุ้นการสร้างสรรค์นวัตกรรมอย่างกว้างขวาง

 

  • ในประเทศส่วนใหญ่ที่ทำการสำรวจความคิดเห็น ภาคธุรกิจมีทัศนคติในแง่ลบมากขึ้นต่อนโยบายของประเทศตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสวีเดน อิสราเอล ตุรกี ซาอุดิอาระเบีย และแคนาดา  อย่างไรก็ตาม ในประเทศอินเดียมีการปรับปรุงดีขึ้นอย่างมาก (9 จุด)
  • เมื่อถามเกี่ยวกับภารกิจหลักที่รัฐบาลควรมุ่งเน้นเป็นพิเศษเพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรม มีการระบุถึงประเด็นเรื่องการศึกษา (50 เปอร์เซ็นต์) การปฏิรูประบบราชการ (48 เปอร์เซ็นต์) และการปกป้องความลับทางการค้า (41 เปอร์เซ็นต์) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเม็กซิโกและบราซิล

 

จัดสรรคนและงานให้เหมาะกับความสามารถ

 

ผู้นำด้านนวัตกรรมทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างมากต่อประเด็นเรื่องบุคลากร เพราะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และความเชี่ยวชาญด้านเทคนิคของบุคลากรคือปัจจัยหลักที่จะช่วยปลดล็อคศักยภาพ

ในการสร้างสรรค์นวัตกรรม โดยประเด็นที่ผู้บริหารเป็นห่วงมากที่สุดได้แก่ ความพร้อมของบุคลากร (เช่น การศึกษา) และการเข้าถึงบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถ (การเคลื่อนย้ายแรงงานข้ามพรมแดน การดึงดูดบุคลากร การแย่งชิงบุคลากร) ขณะที่บริษัทต่างๆ พยายามที่จะมอบหมายงาน

ที่เหมาะสมให้แก่บุคลากร พร้อมทั้งจัดเตรียมชุดทักษะที่ถูกต้องเหมาะสม เพื่อตอบสนองความต้องการทางเศรษฐกิจในอนาคต

 

  • การปรับปรุงระบบการศึกษาให้สอดรับกับความต้องการทางธุรกิจถือเป็นภารกิจสำคัญสำหรับองค์กรธุรกิจ โดย 81 เปอร์เซ็นต์ระบุว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหนึ่งในสี่ประเด็นที่สำคัญที่สุด แต่เกาหลีใต้เป็นกรณียกเว้นที่เห็นได้ชัด โดยมีเพียง 47 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ระบุว่าเรื่องนี้เป็นภารกิจสำคัญทางธุรกิจ

 

  • 55 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถาม ซึ่งลดลง 6 จุดจากปีที่แล้ว ระบุว่ามหาวิทยาลัยและโรงเรียนจัดหารูปแบบการศึกษาที่แข็งแกร่งให้กับผู้นำในอนาคตที่มีหัวคิดก้าวไกล

 

  • 41 เปอร์เซ็นต์เชื่อว่าข้อจำกัดในการเข้าถึงบุคลากรต่างชาติมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลกระทบต่อความสามารถขององค์กรธุรกิจในการสร้างสรรค์นวัตกรรม

 

เกี่ยวกับรายงานเครื่องชี้วัดนวัตกรรมระดับโลก (Global Innovation Barometer) ของจีอี:

 

รายงานวิจัยที่จีอมอบหมายให้ StrategyOne ดำเนินการ โดยทำการวิจัยระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม 2555 ถึง 5 ธันวาคม 2555 เป็นการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับผู้บริหารระดับสูงในภาคธุรกิจ 3,100 คนใน 25 ประเทศ  ผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมดเป็นผู้บริหารระดับรองประธานหรือสูงกว่านั้น และมีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับกระบวนการสร้างสรรค์นวัตกรรมของบริษัท  ทั้งนี้ 28 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นผู้บริหารระดับสูงสุด (C-suite level)  ประเทศที่ทำการวิจัยได้แก่ ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน เยอรมนี อินเดีย ไอร์แลนด์ อิสราเอล ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก เนเธอร์แลนด์ ไนจีเรีย โปแลนด์ รัสเซีย ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ สวีเดน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และเวียดนาม

 

~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~~

 

เกี่ยวกับจีอี

จีอีมุ่งมั่นในการคิดค้นสิ่งที่ดีต่อมนุษยชาติ ด้วยบุคลากรที่เก่งที่สุด และเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อรับมือกับความท้าทายที่ยากที่สุด  โดยมุ่งหาวิธีแก้ปัญหาในด้านพลังงาน สุขภาพและที่อยู่อาศัย การขนส่งและการเงิน ด้วยการสร้างและเพิ่มพลังการขับเคลื่อนในการดูแลรักษาโลกของเรา  เหล่านี้ไม่ใช่เป็นเพียงแค่จินตนาการ แต่จีอีเราลงมือทำ ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ge.com

 

เกี่ยวกับ StrategyOne:

StrategyOne ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2552 เป็นบริษัทวิจัยอิสระ มีสำนักงานในนิวยอร์ก วอชิงตัน ดีซี ปารีส อาบูดาบี ลอนดอน ชิคาโก บรัสเซลส์ แอตแลนต้า ดูไบ ฮูสตัน โรเชสเตอร์ ซานฟรานซิสโก ซีแอตเทิล และซิลิคอนวัลเลย์