สวรส. เชื่อมโยงเครือข่ายวิจัย สร้างกลไกขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาระบบสุขภาพ

0
250
image_pdfimage_printPrint

03-HSRI

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จัดประชุมเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ ครั้งที่ 2 โดยมี ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สวรส. นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. ร่วมเปิดการประชุมฯ โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมกว่า 50 คน เป็นผู้บริหารและผู้แทนจากหน่วยงานในระบบสุขภาพ อาทิ กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รพ.รามาธิบดี ม.มหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ม.ขอนแก่น ม.เชียงใหม่ ม.นเรศวร ม.มหาสารคาม ม.วลัยลักษณ์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ ชลประทาน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) HITAP เครือข่าย R2R ภาคกลางและภาคใต้ ร่วมการประชุมและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระบบสุขภาพ ที่โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สวรส. มองว่าที่ผ่านมาโรงเรียนแพทย์ มีความรู้ทางด้านระบบสาธารณสุขไม่มากพอ เนื่องจากอาจารย์แพทย์จะมุ่งการเรียนการสอนตามหลักสูตร เช่น การวินิจฉัยโรค การดูแลรักษา เป็นต้น ทำให้การเรียนการสอนในมิติทางสังคมลดน้อยลงไป การขาดการเชื่อมโยงตรงนี้ทำให้บัณฑิตที่จบมา ขาดความพร้อมในการทำงานแบบองค์รวม ทาง สวรส. จึงมีแนวคิดในการพัฒนาเชื่อมโยงให้หน่วยงานทางด้านสาธารณสุขกับสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งทางด้านสุขภาพ สาธารณสุข สังคม ฯลฯ ได้มาร่วมทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ซึ่งจะเป็นการพัฒนาความเข้มแข็งทางวิชาการ เกิดความร่วมมือด้านการเรียนการสอน โดยเฉพาะการสร้างงานวิจัยระหว่างสถาบันต่างๆ ที่จะชี้ทิศทางการพัฒนาประเทศ
นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า สำหรับในภาพรวมของประเทศรัฐบาลเตรียมที่จะปฏิรูประบบวิจัยสุขภาพ เพื่อต้องการจัดระบบเชิงโครงสร้างให้ลงตัว ดังนั้น สวรส. จึงได้เสนอแนวทางการบูรณาการนโยบายสุขภาพ ด้านระบบการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีการแบ่งระดับชั้นของผู้ที่เกี่ยวข้องการวิจัยได้แก่ ภาคนโยบาย แหล่งสนับสนุนทุนวิจัย หน่วยงานวิจัย ผู้วิจัย และหน่วยงานขับเคลื่อนหรือใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เชื่อว่าเมื่อมีการแบ่งบทบาทกันชัดเจนก็จะสามารถออกแบบแผนงานได้ง่ายขึ้น สวรส. มีบทบาทเป็นหน่วยงานสนับสนุนทุนวิจัยพร้อมเป็นตัวกลางประสานให้เกิดการเชื่อมโยงและพัฒนาการวิจัยระบบสุขภาพอย่างต่อเนื่อง โดยมองไปถึงเครือข่ายที่นอกเหนือไปจากวงการแพทย์และสาธารณสุข เช่น วิทยาศาสตร์สุขภาพ สังคมศาสตร์ วัฒนธรรม การศึกษา เป็นต้น
สำหรับการจัดประชุมครั้งนี้ สวรส. ได้เชิญเครือข่ายวิจัยมาร่วมนำเสนอการดำเนินงานในพื้นที่มาร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น การวิจัยในมิติสังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการวิจัยการสนับสนุนกลไกเพื่อการปรับสภาพบ้านเพื่อเพิ่มสมรรถนะของคนพิการด้านการเคลื่อนไหวและผู้สูงอายุ โดย ผศ.ดร.พญ.ศิรินาถ ตงศิริ ม.มหาสารคาม ที่มีรูปแบบของงานบูรณาการระหว่างผู้ให้บริการทางการแพทย์ สถาปนิก ช่าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน และตัวคนพิการเอง มาร่วมจัดทำแผนการทำงาน มีกลไกประสานการสนับสนุนงบประมาณดำเนินงานก่อสร้างจากภาคท้องถิ่น และการติดตามผลลัพธ์หลังการปรับปรุง ซึ่งช่วยปรับสภาพบ้านและสิ่งแวดล้อมให้กับคนพิการและผู้สูงอายุเป้าหมายให้สามารถมีกิจกรรมนอกบ้านได้, การวิจัยด้านคุณภาพและความปลอดภัยในระบบบริการสุขภาพ โครงการ Engagement for Patient Safety สู่ทศวรรษแห่งการพัฒนาคุณภาพบริการและความปลอดภัยของผู้ป่วย ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2558-2560) โดย พญ.ปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) และ ดร.พญ.ภัทรวลัย ตลึงจิตร คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมนำเสนอประสบการณ์วิจัยและพัฒนาถุงวัดปริมาตรเลือดภายหลังคลอดเพื่อวินิจฉัย เครื่องมือการดูแลผู้ป่วยตกเลือดหลังคลอดกับราชวิทยาลัยสูติศาสตร์ ให้ความแม่นยำเหมาะกับเวชปฏิบัติในปัจจุบัน วินิจฉัยได้รวดเร็วป้องกันภาวะช็อก ตกเลือดหลังคลอด โดยใช้นำร่องใน 148 รพ. เครือข่าย โดยเตรียมพัฒนาข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาต่อในระยะที่ 2 ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมการขับเคลื่อนเป็นแนวทางปฏิบัติระดับกระทรวงและภูมิภาคต่อไป
นพ.พีรพล กล่าวด้วยว่า “เป้าประสงค์สำคัญจากการเชื่อมโยงเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ ต้องการเห็นภาพการพัฒนาของบริการด้านสุขภาพ ที่เข้าถึงประชาชนได้อย่างครอบคลุม มีคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีขึ้น ตอบสนองความคาดหวัง มีประสิทธิภาพดีขึ้น การคุ้มครองความเสี่ยงทางด้านการเงินการคลังในระบบสุขภาพ เป็นต้น เป็นงานที่ท้าทายในการชี้ทิศทางระบบสุขภาพของประเทศ และการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่า”
ทางด้าน ผศ.ดร.นพ.บวรศม ลีระพันธ์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เสนอแนวทางเพื่อการพัฒนาเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ เพื่อให้สามารถองค์ความรู้ใหม่ที่จำเป็นต่อการพัฒนานโยบายและระบบสุขภาพของประเทศไทย จุดเน้นสำคัญอันดับต้นๆ คือ การช่วยกันทำ 3 ประเด็นสำคัญให้เกิดความชัดเจนตรงกันก่อน คือ การกำหนดเป้าหมาย ปณิธานความมุ่งมั่นของเครือข่ายวิจัยระบบสุขภาพ (Purpose) บุคคลที่เกี่ยวข้องกับทำงานของเครือข่ายฯ (Principle) และหลักการทำงานร่วมกันของภาคีเครือข่ายฯ ผู้มีส่วนร่วม ผู้ร่วมกิจกรรม (Participant) จากนั้นค่อยขยับมาสู่การทำแผนงาน การกำหนดวิธีปฏิบัติ และวิธีทำงานร่วมกันของเครือข่ายฯ (Practice) ซึ่งควรมีการจัดระบบให้แหล่งทุนวิจัยกับผู้รับทุนวิจัยให้มีทิศทางการทำงานสอดคล้องกัน
นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการ สวรส. กล่าวว่า งานวิจัย 1 ชิ้น เราไม่ได้คาดหวังว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางนโยบายได้ในทันใด แต่สิ่งสำคัญที่เป็นผลลัพธ์จากงานวิจัย คือ องค์ความรู้ใหม่ๆ ที่จะค่อยๆนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยสิ่งสำคัญด้านหนึ่งที่จะช่วยก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงได้ คือ ระบบนิเวศของเครือข่ายระบบวิจัย ที่ปัจจุบันมีความหลากหลายและแยกย่อยเป็นสาขาออกไป หากนำกลุ่มต่างๆ ในระบบนิเวศเหล่านี้มาเชื่อมโยงกันก็จะกลายเป็นระบบใหญ่จากศาสตร์ต่างๆ ซึ่งจะช่วยในการสร้างและสะสมองค์ความรู้ รอเพียงช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมต่อการใช้ประโยชน์ เพื่อจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้กับระบบสาธารณสุขในอนาคต
ทั้งนี้ ในที่ประชุมยังได้มีการนำเสนอรูปธรรมการทำงานวิจัยเชิงระบบและนโยบายสุขภาพ โดยผู้เข้าร่วมได้ร่วมแลกเปลี่ยนระดมความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง นับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาการทำงานเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพในระยะต่อไป โดยทาง สวรส. กำหนดจัดประชุมเครือข่ายการวิจัยระบบสุขภาพ ครั้งที่ 3 ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2559 ที่ รร.อมารี แอร์พอร์ต ดอนเมือง เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการบริหารจัดการเครือข่ายการวิจัยและบทเรียนที่ผ่านมา