สร้างวงเวียนทางแยก เพิ่มความปลอดภัยท้องถนน

0
413
image_pdfimage_printPrint

สร้างวงเวียนทางแยก เพิ่มความปลอดภัยทางถนน
อุบัติเหตุด้านการจราจรเป็นสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง เพราะถึงแม้ระหว่างการขับขี่เราจะระมัดระวังเพียงใดก็ยังมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุได้อยู่เสมอ อีกทั้งบริบทของเส้นทางและจำนวนยานพาหนะที่เพิ่มขึ้นก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนได้เช่นกัน
เช่นเดียวกับชุมชนตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ที่การจราจรภายในชุมชนได้เปลี่ยนไปจากเดิม ด้วยช่องจราจรที่ขยายเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับยานพาหนะที่หนาแน่น เพราะต้องใช้ขนส่งสินค้าด้านการประมง อีกทั้งยังเป็นเส้นทางผ่านย่านชุมชน วัด และโรงเรียนภายในชุมชน นอกจากจำนวนรถที่มีมากขึ้นแล้ว ช่องจราจรที่กว้างขึ้นยังทำให้ผู้ขับขี่ใช้ความเร็วเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุจนก่อให้เกิดการสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน
“การจัดการเรียนรู้แบบการมีส่วนร่วมในการเพิ่มความปลอดภัยทางถนนของชุมชน เพื่อสุขภาวะเด็ก เยาวชนและประชาชนอย่างยั่งยืน: พื้นที่ตำบลบ้านแหลม อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี” จึงเป็นโครงการที่เกิดจากกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยการปรับปรุงบริเวณทางแยกอันตรายของชุมชนให้เป็น “วงเวียน”เพื่อลดอุบัติเหตุของชุมชน
รศ.ดร.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีเอเชียอธิบายว่า วงเวียนเป็นวิศวกรรมรูปแบบหนึ่งที่ใช้ลดความเร็วของผู้ขับขี่ โดยเฉพาะบริเวณทางแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟจราจรหรือแยกวัดใจ ซึ่งมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุที่มีความรุนแรงค่อนข้างสูง เนื่องจากรถที่แล่นมาด้วยความเร็วสูงทั้งสองทางผู้ขับขี่จะไม่มีทางรู้เลยว่าฝ่ายใดจะลดความเร็ว แต่วงเวียนสามารถบังคับพฤติกรรมของผู้ขับขี่ให้ลดความเร็วลงได้โดยอัตโนมัติ อีกทั้งยังพบข้อมูลว่าวงเวียนช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุได้ถึง 40-50 %
“วงเวียนไม่ได้เหมาะสมกับทุกทางแยก แต่ขึ้นอยู่กับจำนวนการจราจรด้วย ซึ่งตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้คือหากมีจำนวนการจราจรเกิน 20,000คัน /วัน จะไม่เหมาะสมในการใช้วงเวียนควรพิจารณาการใช้สัญญาณจราจรแทน แต่หากเป็นทางแยกที่มีการจราจรไม่หนาแน่นมากจะเหมาะสำหรับใช้วงเวียนมากกว่าสัญญาณไฟจราจรเพราะจะช่วยให้รถเคลื่อนตัวได้คล่องขึ้น อย่างไรก็ตามการใช้วงเวียนถึงแม้อาจจะยังมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่บ้าง คือการเฉี่ยวชนภายในวงเวียนแต่จะไม่เกิดความรุนแรงมากนัก”ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีเอเชีย อธิบายเพิ่มเติม
ด้านนางสาวทัศนีย์ ศิลปบุตร รองประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สสส. และ ผู้แทน Safer Roads Foundation : ประจำประเทศไทยกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาในชุมชนด้วยกระบวนการมีส่วนร่วมว่า การมีส่วนของคนในชุมชนเป็นสิ่งสำคัญมากในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะแยกตลาดกิ่งแก้ว ต.บ้านแหลม ต.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็นแยกที่อยู่ในชุมชน และเคยเกิดอุบัติเหตุถึง 3 ครั้ง โดยครั้งที่รุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน จากการสูญเสียดังกล่าวชุมชนจึงได้หารือปัญหาและนำมาปรึกษากับหลายหน่วยงานเพื่อหาแนวทางแก้ไข ทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ตำรวจ วัด โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจึงขอความช่วยเหลือมายังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อหาทางออกร่วมกัน ซึ่งทุกภาคส่วนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี อีกทั้งสสส.ยังได้สนับสนุน ในการสร้างเครือข่ายและบูรณาการร่วม ทั้งยังเชื่อมโยงแต่ละภาคส่วนเข้าด้วยกันทำให้การทำงานทั่วถึงและสะดวกมากขึ้น
ส่วน นายทัตญัชพงษ์ เติมวรรรธนภัทร์ รองนายกเทศมนตรี ต.บ้านแหลม อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี สะท้อนถึงผลที่ได้รับหลังจากมีการสร้างวงเวียนที่แยกตลาดกิ่งแก้วว่า คนในพื้นที่รวมถึงผู้ที่สัญจรไปมามีความปลอดภัยด้านการจราจรมากขึ้น อุบัติเหตุลดลงอย่างเห็นได้ชัด และถึงแม้ในช่วงแรกของการสร้างวงเวียนคนในชุมชนอาจจะยังมีความกังวลอยู่บ้างว่าพื้นที่ถนนจะไม่เพียงพอต่อการสัญจร แต่เมื่อสร้างวงเวียนเสร็จ ด้วยอุบัติเหตุที่ลดลงและการจราจรที่สะดวกขึ้นทำให้คนในชุมชนพึงพอใจอย่างมาก นอกจากนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ขับขี่ในการใช้วงเวียน เมื่อผู้ขับขี่รถมาถึงวงเวียนต้องให้สิทธิแก่ผู้ขับขับขี่ที่อยู่ในวงเวียนทางด้านขวาของคนขับผ่านไปก่อน เพราะนอกจากจะเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับขี่แล้ว ยังเป็นการช่วยลดอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นในวงเวียนอีกด้วย
อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นไม่ว่าจะกับตนเองหรือคนรอบข้าง ดังนั้นการมีสติระหว่างการขับขี่อยู่เสมอจึงเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
////////////////////////////////