วสท. เปิดเวทีเสวนา “เครนล้ม ! อุบัติภัยซ้ำซาก ใครรับผิดชอบ”

0
450
image_pdfimage_printPrint

ในการพัฒนากรุงเทพฯและเมืองใหญ่ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้ปัจจุบันเมืองเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างสาธารณูปโภค ตึกสูงและไซต์สิ่งก่อสร้างจำนวนมากมายเพื่อรองรับความต้องการที่อยู่อาศัยและธุรกิจอุตสาหกรรม ขณะเดียวกันอุบัติเหตุจากเครนก่อสร้างเกิดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)โดยคณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย จึงได้จัดงานเสวนา เรื่อง “เครนล้ม ! อุบัติภัยซ้ำซาก ใครรับผิดชอบ” ณ อาคาร วสท. (รามคำแหง 39) โดยมีนักวิชาการ วิศวกร ผู้ประกอบการ บุคคลากรและผู้สนใจมาร่วมงานคับคั่ง

ดร. ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า มีข่าวอุบัติเหตุจากเครน หรือ ปั้นจั่น เกิดบ่อยในประเทศไทย ในปี 2560 ที่ผ่านมามีข่าวไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง ประชาชนเสียชีวิตกว่า 15 ราย สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทรัพย์สิน ส่งผลต่อทั้งภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือของอุตสาหกรรมก่อสร้างและประเทศ ทำให้ระยะเวลาการก่อสร้างต้องล่าช้าออกไป และเกิดคดีความต่าง ๆ ด้วย จนถึงครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2561 เครนก่อสร้างถล่มจากชั้นที่ 7 ของอาคารคอนโดมิเนียม ย่านพระราม 9 มีผู้เสียชีวิต 1 ราย ทั้ง ๆ ประเทศไทยมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องมากมายหลายฉบับ มีผู้ประกอบการบริการและเช่าเครนกว่า 200 ราย รวมทั้งผู้ทำงานที่เกี่ยวข้องจำนวนมากในการก่อสร้าง แต่เหตุใดจึงยังมีอุบัติเหตุเครนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ วสท. โดยคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ได้จัดตั้ง อนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทยในปี 2555 เพื่อเข้ามามีบทบาทในการพัฒนา วิศวกรผู้ตรวจสอบปั้นจั่น/เครน รวมทั้งได้จัดฝึกอบรมให้ความรู้ในด้านการออกแบบ การตรวจสอบ การใช้งาน การบำรุงรักษา สำหรับปั้นจั่น/เครนหลากหลายชนิด ซึ่งการใช้งานเครนกำลังมีบทบาทมากขึ้นในการใช้เคลื่อนย้ายสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก เพื่อทดแทนแรงงานคนที่ขาดแคลน เสริมสร้างความรู้ความเข้าใจและสามารถปฏิบัติงานและดูแลบำรุงรักษาปั้นจั่น/เครน ให้สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัยทั้งในโณงงานอุตสาหกรรมและไซต์งานก่อสร้างต่าง ๆ ในอนาคต วสท.มีแผนงานที่จะพัฒนา มาตรฐานการติดตั้ง ตรวจสอบ และบำรุงรักษา ปั้นจั่น/เครนชนิดต่าง ๆ เพื่อเป็นแนวทางให้วิศวกรและผุ้ที่เกี่ยวข้อง นำไปใช้ในการปฏิบัติงานและเป็นการยกระดับความปลอดภัยในการใช้งานปั้นจั่น/เครนในประเทศไทย โดยจะมีการหารือร่วมกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมพัฒนารายการตรวจสอบและคู่มือการตรวจสอบปั้นจั่น เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ

นายวุฒินันท์ ปัทมวิสุทธิ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิศวกรรมยกหิ้วและปั้นจั่นไทย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า อุบัติเหตุครั้งล่าสุด เครนล้มที่ถนนพระราม 9 ในโครงการก่อสร้างคอนโดมิเนียม ย่านพระราม 9 เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 61 อาคารมีความสูง 8 ชั้น ซึ่งโครงการดังกล่าวมีอาคารทั้งหมด 4 อาคาร โดยจุดเกิดเหตุอยู่ที่บริเวณอาคารหมายเลข 2 ชั้นที่ 7 บริเวณที่นั่งคนขับเครนพบผู้เสียชีวิตเป็นคนขับเครนที่กำลังทำงานอยู่ด้านบนอาคาร เบื้องต้นคาดว่าขณะที่เครนตัวดังกล่าวกำลังยกของและหมุนตัวเพื่อจะนำของไปวางในจุดที่ต้องการ เครนเกิดเอนตัวและล้มลง คนขับหนีไม่ทันจึงถูกเครนทับเสียชีวิต สาเหตุความเป็นไปได้อาจเกิดจากการติดตั้งที่ไม่ได้มาตรฐาน และจากข้อมูลเบื้องต้น พบว่าที่รอยขาดของโครงสร้างขาเครนมีร่อยรอยสนิมอย่างชัดเจนเป็นพื้นที่เกินกว่าครึ่งหนึง โดยพบว่ามีรอยเนื้อเหล็กที่เพิ่งขาดน้อยกว่าครึ่งหนึ่งของพื้นที่หน้าตัดของขาเครนด้านตรงข้ามฝั่งที่ล้ม คาดว่าจะเกิดรอยสนิมดังกล่าวอาจมีร่องรอยการแตกร้าวมาก่อนเกิดเหตุ แต่เนื่องจากรอยแตกร้าวดังกล่าวมีประกับเหล็กปิดทับ เป็นเหตุให้วิศวกรผู้ตรวจสอบหลังการติดตั้ง ไม่สามารถมองเห็นหรือตรวจสอบได้ และพบว่าเครนดังกล่าวน่าจะมีอายุการใช้งานกว่า 20 ปี อาจทำให้โลหะโครงสร้างบางจุดเกิดความล้าจากการใช้งานมายาวนานได้ รวมทั้งการปฏิบัติงานในเวลาดังกล่าว พบว่าไม่มีผู้ควบคุมการใช้งานเครนที่มีประสบการณ์เพียงพอ อยู่ควบคุมการทำงานของผู้บังคับเครน

สาเหตุหลักของอุบัติเหตุจากเครน มาจากหลายสาเหตุ เช่น 1) โครงสร้างของปั้นจั่นมีการแตกหัก ในขณะปฏิบัติงาน 2) ขั้นตอนการติดตั้ง ปรับระดับ รื้อถอนปั้นจั่นไม่เป็นไปตามมาตรฐาน 3) ชุดอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยชำรุด เช่น ลิมิตสวิตช์ตัดการทำงานชำรุด 4) การยกวัสดุเกินพิกัดที่กำหนด 5) ผู้ปฏิบัติงาน เช่น ผุ้ควบคุมการติดตั้ง ผู้บังคับเครน ผู้ตรวจสอบ ยังขาดความรู้ความเข้าใจในการทำงานที่ถูกต้องและปลอดภัย

จึงควรมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อบังคับใช้ให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน เช่น 1) การใช้งานเครน ต้องมีการตรวจสอบตามคู่มือผู้ผลิตอย่างเคร่งครัด รวมถึงขั้นตอนก่อนการติดตั้งและขั้นตอนการติดตั้งปรับระดับ รื้อถอนเครนหอสูง (Tower Crane) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เครนเก่ามาก อาจต้องมีการยกเครื่อง (Overhaul) หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนสำคัญต่าง ๆ เช่น สลัก โบลท์ น็อต รวมทั้งมีการตรวจสอบ/ทดสอบเชิงลึกในจุดโครงสร้างสำคัญ เช่น การทดสอบแบบไม่ทำลาย (NDT) โดยผู้ตรวจสอบที่มีคุณสมบัติ 2) ผู้ประกอบการต้องเลือกใช้งานเครนที่มีสภาพดีและผ่านการตรวจสอบ/ทดสอบจากวิศวกรที่มีคุณสมบัติและผ่านประสบการณ์ด้านเครน 3) การให้มีผู้ควบคุมการใช้งานเครนที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านงานยกอยู่ควบคุมตลอดเวลาที่มีการทำงานยก รวมถึงการจัดทำแผนการยกก่อนการทำงาน 4)มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยให้มีการจัดทำแผนงานการตรวจสอบก่อนการติดตั้งและขั้นตอนการติดตั้งจากเจ้าของเครน โดยมีวิศวกรวิชาชีพเป็นผู้รับรอง รวมทั้งวิศวกรผู้ควบคุมการติดตั้งจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น ผ่านการฝึกอบรมจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือองค์กรวิชาชีพ ก่อนเข้าปฏิบัติงาน

สำหรับ ปั้นจั่น หรือ เครน นับว่าเป็นเครื่องจักรสำคัญที่ใช้ในการยกสิ่งของที่มีน้ำหนักมาก ซึ่งอาจแยกได้เป็นหลายชนิด เช่น ปั้นจั่นหอสูง (Tower Crane), ปั้นจั่นชนิดเคลื่อนที่ (Mobile Crane) รวมถึงรถเครน, ปั้นจั่นเหนือศีรษะ (Overhead Crane) ปั้นจั่นขาสูง (Gantry Crane) และรอกไฟฟ้า (Electric Hoist) ตามโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงการใช้งานสลิงและอุปกรณ์ช่วยยกแบบต่าง ๆ โดยตามกฎหมายได้มีการกำหนดให้มีการตรวจสอบและทดสอบส่วนประกอบและอุปกรณ์ของปั้นจั่นตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ แต่ไม่เกินกว่า 1 ปี ในต่างประเทศมีการพัฒนาเทคโนโลยีเครนก้าวหน้า แต่ในประเทศไทยมักใช้เครนเก่ามือสองมือสามซึ่งมีเป็นจำนวนมากเกินกว่าครึ่งหนึงของตลาดการใช้งานทั้งหมด เครนบางตัวมีอายุเกินกว่า 30 ปี อุปกรณ์ด้านความปลอดภัย เช่น ลิมิตสวิตช์ตัดการทำงานของเครน สภาพของสลิงที่ใช้งานมีสภาพชำรุด สภาพโครงสร้างที่อาจได้รับผลกระทบจากความล้าของโลหะ การบำรุงรักษาในขั้นตอนก่อนการติดตั้งหรือขั้นตอนการติดตั้งที่ยังขาดการตรวจสอบตามคู่มือที่ผู้ผลิตกำหนดไว้ ผู้บังคับเครนและผู้ยึดเกาะวัสดุยังขาดความรู้ความเข้าใจในการใช้งาน รวมถึงผู้ว่าจ้างยังขาดความสนใจเรื่องคุณภาพความพร้อมของเครนทีใช้งาน โดยจะพบเครนกระจายอยู่ทั่วไปทั้งในพื้นที่ทำงาน รวมถึงไซต์ก่อสร้างอาคารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ จึงนับว่าอุบัติภัยจากเครน เป็นอีกความเสี่ยงภัยสาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อผู้คนและชุมชนได้

ข้อเสนอแนะจาก วสท.ในการลดปัญหาอุบัติเหตุจากเครน
1. ผู้ประกอบการควรพัฒนาบุคคลากรคนขับเครนต้องผ่านการอบรมให้มีความรู้เชี่ยวชาญ และการใช้เครนอย่าถูกต้องและปลอดภัย เลือกใช้งานเครนที่มีสภาพดีและผ่านการตรวจสอบ/ทดสอบจากวิศวกรที่มีประสบการณ์ด้านเครนชนิดนั้น ๆ
2. มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยจัดทำแผนงานการตรวจสอบก่อนการติดตั้ง และขั้นตอนการติดตั้งจากเจ้าของเครน โดยมีวิศวกรวิชาชีพเป็นผู้รับรอง รวมทั้งวิศวกรผู้ควบคุมการติดตั้งจะต้องมีคุณสมบัติ เช่น ผ่านการฝึกอบรมจากผู้ผลิต ผู้จัดจำหน่าย หรือองค์กรวิชาชีพ ก่อนเข้าปฏิบัติงาน และส่งเอกสารรับรองการติดตั้งให้ส่วนงานราชการที่มีหน้าที่รับผิดชอบ
3. ปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทั้งการทดสอบ, การตรวจสอบ, พนักงานขับ, พนักงานติดตั้ง, หัวหน้าควบคุมการติดตั้ง, วิศวกรควบคุมการติดตั้ง, วิศวกรตรวจสอบ เพราะทุกคนเป็นฟันเฟืองที่สำคัญเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการทำงาน
4. การใช้งานเครน ต้องมีการตรวจสอบตามคู่มือผู้ผลิต อย่างเคร่งครัด รวมถึงขั้นตอนก่อนการติดตั้งและขั้นตอนการติดตั้งปรับระดับเพิ่ม-ลดความสูง รื้อถอนเครนหอสูง ในกรณีที่เครนเก่ามาก อาจต้องมีการ Overhaul หรือเปลี่ยนชิ้นส่วนสำคัญต่างๆ เช่น สลัก โบลท์ น็อต รวมทั้งมีการตรวจสอบ/ทดสอบเชิงลึกในจุดโครงสร้างสำคัญ เช่น การทดสอบแบบไม่ทำลาย (NDT) โดยผู้ตรวจสอบที่มีคุณสมบัติ
5. จัดให้มี ผู้ควบคุมการใช้งานเครน ที่มีประสบการณ์และองค์ความรู้ด้านงานยกอยู่ควบคุมตลอดเวลาที่มีการทำงานยก รวมถึงการจัดทำแผนการยกก่อนการทำงาน
6. พัฒนาวิศวกรผู้ตรวจ-ทดสอบเครน ให้มีความรู้ความเข้าใจในการทดสอบ อาจให้ วสท. เป็นหน่วยงานกลางร่วมกับส่วนราชการ เพื่อทดสอบความรู้เฉพาะทาง พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนให้แก่วิศวกรผู้ที่ผ่านการทดสอบ