รัฐ-เอกชนรวมพลังรณรงค์ “มือสะอาด สร้างฝัน” ลดการแพร่เชื้อโรคในเด็กไทย เนื่องในวันล้างมือโลก 2018

0
701
image_pdfimage_printPrint

โพรเทคส์ ร่วมกับ กรมอนามัย สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิคุณแม่คุณภาพ และ บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด รณรงค์เดือนแห่งการล้างมือเนื่องใน “วันล้างมือโลก 2018 (Global Hand Washing Day)” ซึ่งตรงกับวันที่ 15 ตุลาคม ของทุกปี ภายใต้แนวคิด “มือสะอาด สร้างฝัน” เพื่อกระตุ้นเตือนพ่อแม่และเยาวชนไทยให้เห็นความสำคัญของการล้างมือถูกวิธีเป็นประจำ ช่วยลดการแพร่เชื้อโรคได้กว่า 50% ช่วยให้เด็กมีสุขภาพและพัฒนาการเรียนที่ดี สามารถสร้างฝันและทำตามจินตนาการของตนเองได้
นายปรีดา จิระวันชัยกุล ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์โพรเทคส์ บริษัท คอลเกต-ปาล์มโอลีฟ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า กิจกรรมรณรงค์เดือนแห่งการล้างมือ เนื่องใน “วันล้างมือโลก 2018 นี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 9 ภายใต้แนวคิด “มือสะอาด สร้างฝัน” เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความฝัน อยากมีอาชีพที่ดีในอนาคต เช่น หมอ พยาบาล ตำรวจ ทหาร หน่วยซีล ซึ่งการมีสุขภาพดีเป็นจุดเริ่มต้นของความสำเร็จ โดยการล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่อย่างถูกวิธีให้ติดเป็นนิสัย ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการมีสุขภาพดีและเป็นวิธีการง่ายๆ ที่ทุกคนสามารถเริ่มได้ตั้งแต่เด็ก เมื่อเด็กมีสุขภาพดีไม่ป่วยบ่อย ก็ไม่จำเป็นต้องขาดเรียน จะช่วยให้เด็กมีพัฒนาการที่สมวัย สามารถพัฒนาตัวเองเพื่ออนาคต มุ่งสู่อาชีพในฝันของตนเองได้ โดยกิจกรรมรณรงค์ “วันล้างมือโลก 2018” มีนิทรรศการให้ความรู้ สาธิตวิธีการล้างมืออย่างถูกวิธี 7 ขั้นตอน พร้อมทดสอบการล้างมือและสาธิตการตรวจสอบเชื้อแบคทีเรียที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพื่อให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงและปลูกฝังการสร้างสุขนิสัยที่ดีด้วยการล้างมืออย่างถูกวิธีด้วยสบู่ให้ติดเป็นนิสัยหลังทำกิจกรรมต่างๆ นอกจากนี้ ยังได้จัดประกวดโครงการศิลปะสร้างสรรค์จากมือในหัวข้อ “มือสะอาด สร้างฝัน” ชิงทุนการศึกษาจากโพรเทคส์กว่า 100,000 บาท เพื่อกระตุ้นให้น้องๆ นักเรียนได้แสดงออกถึงความสามารถ และเห็นความสำคัญของการล้างมือ อีกด้วย
ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ ผอ.สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ กรมอนามัย เปิดเผยว่า วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UN: UNITED NATIONS) กำหนดให้เป็นวันล้างมือโลก (Global Hand Washing Day) เพื่อณรงค์และกระตุ้นให้เด็ก เยาวชน และประชากรทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญในเรื่องของการล้างมือด้วยสบู่อย่างถูกวิธีเป็นประจำ ตลอดจนเกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ข้อมูลจากองค์การยูนิเซฟ พบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีทั่วโลกเสียชีวิตจากโรคอุจจาระร่วงประมาณ 3.5 ล้านคน และโรคปอดบวมประมาณร้อยละ 25 ในส่วนของประเทศไทย สำนักระบาดวิทยารายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 1ตุลาคม 2561 มีผู้ป่วยอุจจาระร่วง 946,483 ราย ผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 130,488 ราย เสียชีวิต 21 ราย และโรคมือเท้าปากมีผู้ป่วย 55,070 ราย โดยมือของเราสามารถนำเชื้อโรคมากมาย สามารถติดต่อผ่านการสัมผัส ซึ่งการล้างมือ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ เสียค่าใช้จ่ายน้อยและสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดี
วันล้างมือโลกในปี 2561 เน้นการจัดกิจกรรมในรูปแบบ “ขอให้ทุกคนมีมือที่สะอาด : Let’s give everyone a clean hand” ซึ่งไม่ใช่เพียงเป็นการเตือนให้เราทราบว่าการล้างมือเป็นการป้องกันสุขภาพ แต่ยังรวมถึงเป็นการเสริมสร้างอนาคต สุขภาพด้วยมือเราอีกด้วย มีผลการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริการะบุว่าการล้างมือด้วยน้ำและสบู่ที่ถูกวิธีเพียง 20 วินาที สามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโรคได้ดี โดยการล้างมือที่ถูกวิธีด้วยน้ำและสบู่มี 7 ขั้นตอน ได้แก่ 1) ฝ่ามือถูกัน 2) ฝ่ามือถูหลังมือและนิ้วถูซอกนิ้ว 3) ฝ่ามือถูฝ่ามือและนิ้วถูซอกนิ้ว 4) หลังนิ้วมือถูฝ่ามือ 5) ถูนิ้วหัวแม่มือโดยรอบด้วยฝ่ามือ 6) ปลายนิ้วมือถูขวางฝ่ามือ และ 7) ถูรอบข้อมือ โดยทุกขั้นตอนทำ 5 ครั้ง สลับกันทั้ง 2 ข้าง ทั้งนี้ควรปลูกฝังให้รู้จักวิธีการล้างมือที่ถูกต้องและมีการปฏิบัติเป็นประจำเพื่อให้เกิดนิสัยรักสุขภาพในทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่งท่าอากาศยาน ตลาดสด ศูนย์อาหาร โดยให้ยึดหลัก 2 ก่อน 5 หลังคือ 2 ก่อน (ทำอาหาร และรับประทานอาหาร) 5 หลัง (เข้าห้องส้วม หยิบจับสิ่งสกปรก เยี่ยมผู้ป่วย สัมผัสหรือเล่นกับสัตว์ และหลังกลับมาจากนอกบ้าน) โดยกรมอนามัย ได้ประสานขอความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั่วประเทศทั้งภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน ในการส่งเสริมการจัดกิจกรรมรณรงค์ “วันล้างมือโลก” ตลอดเดือนตุลาคมไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไปองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สถานศึกษา สมาคมฯ ชมรมผู้ประกอบการค้าอาหารทั่วประเทศ
ด้าน รศ.พลตรีหญิง พญ.ฤดีวิไล สามโกเศศ อุปนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงเดือนมิ.ย.-ต.ค. ของทุกปี มีเด็กจำนวนมากที่เป็นโรคติดเชื้อต่างๆ เข้ามาพบแพทย์จนล้นโรงพยาบาล เพราะด้วยสภาพอากาศในช่วงฤดูฝน ท้องฟ้าปิด อากาศไม่ปลอดโปร่ง เชื้อโรคต่างๆ ก็มักจะสะสมอยู่ตามจุดอับต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น รถโรงเรียน ห้องเรียน ศูนย์เด็ก หรือเนอร์สเซอรี่ต่างๆ ที่มีเด็กๆ รวมอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นสถานที่แออัดก่อให้เกิดโรคติดต่อในเด็กได้ง่ายและแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็ว โดย “มือ” เป็นต้นกำเนิดแห่งการนำพาเชื้อไปสู่ร่างกาย

“เชื้อโรคบางชนิดจะติดที่มือได้นานถึง 30 นาที หากไปสัมผัสดวงตา ขยี้จมูก หยิบจับอาหารเข้าปาก ก็จะติดเชื้อได้ ดังนั้น หัวใจสำคัญของการยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อต่างๆ ก็คือ การล้างมือ โดยพ่อแม่ผู้ปกครอง และโรงเรียน ต้องร่วมมือกันปลูกฝังการล้างมืออย่างถูกวิธีให้กับเด็กทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อในเด็กต่างๆ ด้วยการล้างมือด้วยสบู่ ซึ่งช่วยลดโอกาสการติดเชื้อได้ถึง 50% เพื่อจะไม่ส่งผลต่อการขาดเรียน เด็กได้เรียนรู้เติบโตสมวัย เป็นอนาคตของชาติ ก้าวสู่ความฝันได้ทำในสิ่งที่ตนเองชอบ” รศ.พลตรีหญิง พญ.ฤดีวิไล กล่าว
นอกจากนี้ พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมถึงคุณครูและผู้ดูแลเด็กควรเฝ้าระวัง หากเด็กไม่สบายควรให้หยุดเรียนและรีบไปพบแพทย์ อย่าคิดว่าไม่เป็นไร เพราะบางโรคหากไม่รีบรักษาอาจร้ายแรงถึงชีวิต โดยโรคที่พบบ่อย ได้แก่ 1) โรคไวรัส RSV ทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินหายใจทั้งส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งมีการระบาดอย่างมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะเด็กเล็กต่ำกว่า 3 ขวบ สามารถติดต่อผ่านสารคัดหลั่งต่างๆ ในร่างกาย เช่น น้ำมูก น้ำลาย ละอองจากการไอ จามโดยเฉพาะการติดต่อจากการสัมผัส 2) โรคมือเท้าปาก ซึ่งมีการแพร่ระบาดในเด็กเล็กเป็นจำนวนมาก แม้จะมีการทำความสะอาดห้องเรียน รวมไปถึงของใช้ต่างๆ ภายในห้องเรียนแล้ว เนื่องจากโรคนี้เชื้อโรคจะติดอยู่ในลำไส้เด็กนานนับเดือน หากเด็กมีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ก็จะสามารถกลับมาเป็นโรคนี้ได้อยู่เสมอ ฉะนั้นการใส่ใจเรื่องความสะอาด ล้างมือก่อนทำกิจกรรมต่างๆ ทุกครั้ง จะช่วยลดการติดเชื้อต่างๆ ได้ 3) ไข้หวัดใหญ่ 4) โรคคออักเสบ ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย บางคนเข้าใจว่าโรคนี้ไม่อันตราย แต่เด็กที่ติดโรคนี้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อ แล้วมีผลต่ออวัยวะอื่นๆ เช่น หัวใจ (ไข้รูมาติก) หรืออาจมีอาการไตวายจนอาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้ และ 5) ท้องเสีย