‘ฟันตาย’ ภัยร้ายในช่องปาก

0
665
image_pdfimage_printPrint

       ‘ฟัน’ อวัยวะที่สำคัญของร่างกาย ทำหน้าที่ในการบดเคี้ยวอาหาร หากเกิดอันตรายกระทบกระแทกกับฟันหรือฟันผุอย่างรุนแรง ไม่ใช่ปัญหาเล็กๆ อีกต่อไป เพราะอาจส่งผลให้ฟันสูญเสียเซลล์ต่างๆ ในการทำหน้าที่ ซึ่งหลายคนอาจไม่รู้จักภาวะที่เรียกว่า ‘ฟันตาย’
      ทันตแพทย์หญิงวาสพรรณ วัฒนาสุวรรณ ทันตแพทย์ ศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว กล่าวว่า ฟันตาย (Non-Vital Discoloration) คือภาวะอันตรายในช่องปาก เนื่องจากเนื้อเยื่อฟันได้รับความเสียหายจนเลือดไม่สามารถไหลเวียนมาเลี้ยงได้ หรือฟันที่ไม่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงในโพรงประสาทฟัน ทำให้เซลล์ต่างๆ ในฟันตายไปในที่สุด ซึ่งอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบริเวณฟัน ทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงฉีกขาด ฟันผุ ฟันสึก ฟันร้าว ฟันแตก จนถึงโพรงประสาทฟัน หรือเป็นโรคปริทันต์ขั้นรุนแรง รวมถึงการดูแลทำความสะอาดช่องปากที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดการติดเชื้อ
      ฟันเปลี่ยนสีโดยเฉพาะฟันหน้าเป็นสัญญาณเริ่มแรกของอาการฟันตาย สังเกตได้จากสีฟันที่เปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับฟันซี่อื่น บางรายอาจมีตุ่มหนองที่เหงือก เหงือกบวมหรือกดเจ็บบริเวณรากฟัน มีอาการเคี้ยวเจ็บ หรือกัดเจ็บที่เกิดจากการอักเสบรอบปลายรากฟัน หรือเคยมีอาการเสียวฟันมากๆ เมื่อมีสิ่งกระตุ้น เช่น ดื่มน้ำร้อน น้ำเย็น แต่อยู่ๆ ก็ไม่รู้สึก
      การรักษาฟันตาย สามารถทำได้ 2 วิธี คือ การรักษารากฟัน เป็นการนำเอาเนื้อฟันส่วนที่ตายออกและทำความสะอาดบริเวณที่ติดเชื้อ ซึ่งวิธีนี้อาจต้องใช้เวลานาน แต่ไม่ต้องสูญเสียฟันแท้ตามธรรมชาติไป และการถอนฟัน ในกรณีที่ฟันติดเชื้อรุนแรงจนไม่สามารถบูรณะหรือรักษารากฟันได้แล้ว ซึ่งหากเกิดภาวะฟันตายผู้ป่วยควรรีบรักษา เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดการละลายของปลายรากฟัน และส่งผลให้เกิดอันตรายอื่นๆ ตามมาได้
       ฟันตายสามารถป้องกันได้โดยการดูแลรักษาความสะอาดในช่องปากอย่างถูกต้องและเหมาะสม หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารที่เป็นกรด เช่น อาหารรสเปรี้ยว น้ำอัดลม และหลีกเลี่ยงการรับประทานของแข็ง เพื่อลดโอกาสการเกิดฟันผุและฟันร้าว ซึ่งเป็นสาเหตุของฟันตาย รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพฟันทุก 6 เดือน
      ปัจจุบันศูนย์ทันตกรรม โรงพยาบาลหัวเฉียว เปิดให้บริการการตรวจรักษาโรคครอบคลุมโรคในช่องปากทุกสาขา อาทิ การถอนฟัน อุดฟัน ขูดหินปูน ศัลยกรรมช่องปากรักษารากฟัน รักษาโรคเหงือก การใส่ฟัน การจัดฟัน การฟอกสีฟัน โดยทันตแพทย์ผู้ชำนาญการ เพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจ สร้างบุคลิกภาพ พร้อมเสริมสร้างฟันให้แข็งแรง และมีประสิทธิภาพในการบดเคี้ยว