ผู้สูงวัยไม่ใช่ผู้ร้ายปล่อย Fake NEWS ถ้ารู้เท่าทันป้องกันได้

0
367
image_pdfimage_printPrint

ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผู้สูงอายุนอกจากเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายแล้ว ยังตกเป็นเหยื่อของการรับ-ส่งต่อข่าวปลอม หรือ Fake NEWS ที่เกิดขึ้นอย่างมากมายเพราะผู้สูงวัยอาจขาดทักษะในการรับข่าวสารที่ออกมาผ่านสื่อต่างๆ มูลนิธิคนตัวดี จึงร่วมกับ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ จัดเสวนาเรื่อง Fake NEWS ในมือสูงวัย ป้องกันได้ถ้ารู้เท่าทัน โดยมีผู้ร่วมเสวนาคือ พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กรรมการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย อาจารย์จิราณีย์ พันมูล สาขาวิชาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ ธนากร พรหมยศ CEO และผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม “ยังแฮปปี้” (YoungHappy) สังคมผู้สูงอายุออนไลน์ และ ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมาน กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ดำเนินรายการโดย วันชัย บุญประชา กรรมการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เพื่อนำเสนอผลงานสำรวจในประเด็น การได้รับผลกระทบจากการได้รับข่าวลวง หรือ Fake NEWS ของผู้สูงวัยในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ใน 4 พื้นที่ในเขตเมืองได้แก่ จังหวัดกระบี่ เชียงใหม่ อุบลราชธานี และ กรุงเทพฯ เพื่อร่วมกันหาแนวทางเพื่อช่วยเหลือผู้สูงวัยรู้เท่าทันข่าวปลอม

พญ.ลัดดา ดำริการเลิศ กล่าวถึงสถานการณ์การใช้สื่อและเข้าถึงสื่อของผู้สูงอายุในไทย จากผลการสำรวจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (2562) พบว่าการใช้เทคโนโลยีประจำปี 2561 กิจกรรมที่ได้รับความนิยมในกลุ่มอายุ 54-72 ปี ทั่วประเทศ3 อันดับแรก คือ ใช้เฟซบุค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ร้อยละ 84.7 อันดับ 2. การรับส่งอีเมล์ ร้อยละ 81.1 อันดับ 3 การโทรศัพท์ผ่านแอปพลิเคชั่น ไลน์ เฟซบุค แมสเซนเจอร์ เฟซไทม์ 75.1 ใช้เวลาในการใช้สื่ออินเตอร์เน็ตอย่างเฟซบุค อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ เฉลี่ย 2 ชั่วโม 51 นาที / วัน ใช้เวลาดูทีวี คลิปวิดีโอ ภาพยนตร์ ฟังเพลงออนไลน์ผ่าน Youtube , Netflix , Spotify เฉลี่ย 2 ชั่วโมง / วัน ใช้เวลาโทรศัพท์ทางออนไลน์ เฉลี่ย 1 ชั่วโมง 52 นาที / วัน ส่วนใหญ่การใช้อินเตอร์เน็ตจะเป็นการใช้เฟซบุค หรือ ไลน์ ติดต่อครอบครัว เพื่อนสมัยเรียน เพื่อนที่ทำงาน
“เช่นเดียวกับผลการวิจัยของ รศ.ดร.พนม คลี่ฉายา ผู้สูงวัยช่วงอายุ 60-70 ปี มีการเข้าใช้อินเตอร์เน็ต 5-6 ครั้งต่อวัน เฉลี่ยวันละ 2-3 ชั่วโมง การใช้งานมีทั้ง เฟซบุค ไลน์ ยูทูบ ส่วนใหญ่ใช้ในการพูดคุย ติดตามข่าวสาร ทั้งนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีมุมมองต่อไลน์ส่วนตัวและไลน์กลุ่มเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าเฟซบุค โดยจะระมัดระวังการแชร์เนื้อหาและประเด็นถกเถียงในเฟซบุคมากกว่าไลน์ส่วนตัวเพราะคิดว่าเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็เข้าถึงได้ง่าย สำหรับไลน์กลุ่มที่ผู้สูงอายุติดต่อเป็นประจำในชีวิตประจำวันคือ ไลน์กลุ่มของจิตอาสา องค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร กลุ่มช่วยงานวัดงานบุญ” พญ.ลัดดา ให้ข้อเสนอแนะไว้ว่าการที่ผู้สูงอายุจะรับข่าวอะไรมา ต้องคิดก่อนว่าแหล่งข่าวมาจากไหน แต่ถ้ามาทางไลน์หาแหล่งข่าวไม่ได้ จึงต้องตั้งสติ ไม่เชื่อทุกอย่างที่เห็น มืออย่าไวเห็นปุ๊บแชร์ปั๊บ ใช้สติช่วยฉุดรั้งไว้ก่อน

ในขณะที่ อาจารย์จิราณีย์ พันมูล ได้ลงไปศึกษาสถานการณ์การเข้าถึงสื่อและผลกระทบจากการใช้สื่อของผู้สูงอายุในชุมชนเขตเมือง ช่วงต้นปีพ.ศ. 2563 ซึ่งเริ่มมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศ พบว่าผู้สูงอายุจะรับสื่อจากการดูทีวีมากที่สุดเพราะใช้ง่าย รองลงมาคือ อินเตอร์เน็ตโดยใช้โทรศัพท์ สมาร์ทโฟนมากที่สุด แอปพลิเคชั่นที่ใช้มากที่สุดคือ ไลน์ รองลงมาคือ ยูทูบ, เฟซบุค, เว็บไซต์
“ประเด็นการรับข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุ 5 ประเด็นหลักด้วยกันคือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค, วิธีการดูแลสุขภาพและการป้องกันโรค ,มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค, มาตรการความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบ และ การช่วยเหลือและแบ่งปันสิ่งของให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบของผู้สูงอายุในชุมชนเขตเมือง ส่วนเหตุผลหลักของการส่งต่อข้อมูล คือ ข่าวมีความน่าเชื่อถือ ข้อมูลกำลังเป็นประเด็นทางสังคม ข่าวนั้นมีประโยชน์ต่อตัวเองและคนอื่น ส่วนแหล่งข่าวปลอมจะพบบ่อยที่สุดใน ไลน์ ซึ่งเป็นแอปพลิเคชั่นที่ผู้สูงอายุเข้าใช้มากที่สุด สูงถึง 74.3 % เนื้อหาข่าวปลอมที่พบเห็นมากที่สุดจะเป็นเรื่องของ สุขภาพ สาธารณสุข การเมือง เศรษฐกิจ สังเกตได้จากเนื้อหาไม่ตรงกับพาดหัวข่าว”

อาจารย์จิราณีย์ ยังเผยถึงสาเหตุการเชื่อข่าวปลอมของผู้สูงอายุ เกิดจาก 2 ปัจจัยคือ ปัจจัยภายนอก เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรครวดเร็ว ผู้ติดเชื้อมีจำนวนมาก ทำให้เกิดความวิตกกังวล และมีองค์ความรู้เกี่ยวกับโรคน้อยจึงรับข้อมูลตามที่มีความเชื่อในขณะนั้น บวกกับปัจจัยภายในได้แก่ ความเชื่อเดิมที่มีอยู่เช่น สมุนไพรรักษาโรคได้ หรือแรงจูงใจว่าตนเองมีข้อมูลมากกว่าคนอื่นทำให้มีสถานะทางสังคม หรือมีสภาวะทางอารมณ์/จิตใจ ได้ข่าวอะไรมาก็รับไว้หมด ดังนั้นหากมีการจัดทำกระบวนการเพื่อพัฒนาความรู้เพื่อเท่าทันสื่อให้กับผู้สูงอายุ ควรจัดทำเป็นสื่อที่เข้าใจได้ง่าย จำลองสถานการณ์ว่าข่าวไหนเป็นจริงหรือปลอม เป็นคาถาสั้นๆ หรือเพลง ฟังแล้วนำไปปฏิบัติตามได้ หากจัดกิจกรรมอบรมอย่าเน้นสาระมากเกินไป เพราะผู้สูงอายุอาจรับไม่ไหว

เจ้าของเพจยังแฮปปี้ ธนากร พรหมยศ เปิดมุมมองว่า ไม่อยากให้มองผู้สูงอายุเป็นผู้ร้ายในการปล่อย Fake NEWS ในโลกโซเชียล มีเดีย เพราะปัจจุบันการมีเทคโนโลยีเข้ามาแต่คนสูงวัยขาดองค์ความรู้ด้านนี้จึงทำให้ถูกมองว่าเป็นคนปล่อย Fake NEWS ยุคนี้เป็นภาวะที่ทุกคนได้รับข้อมูลข่าวสารที่เยอะเกินไปใน 1 วัน ทำให้เกิดพฤติกรรมไม่สนใจในการตรวจสอบ ต้องการส่งต่อให้เร็วเท่านั้น คนกลางจึงเป็นสิ่งสำคัญ ผู้สูงอายุก็ต้องการใช้เทคโนโลยีเป็น บางคนไม่ยอมถามลูกหลานเพราะถือว่าอายุมากกว่า ควรเปิดใจยอมรับ ส่วนลูกหลานก็ควรใจเย็นและแนะนำผู้สูงอายุให้เข้าใจเทคโนโลยีอย่างค่อยเป็นค่อยไป

“เราเคยทำวิจัยเรื่องการที่ผู้สูงอายุส่งรูปสวัสดีตอนเช้า ผลที่ออกมาจากการทำพฤติกรรมนั้นคือ เรื่องของจิตใจ ต้องการแค่บอกว่า ฉันยังอยู่ตรงนี้นะ ฉันยังเป็นห่วงเธออยู่ ไม่ต่างจากการส่งข่าว แต่เพราะไม่คุ้นชินกับการใช้เทคโนโลยี และเรื่องพฤติกรรมความเข้าใจ ไม่เกี่ยวกับเรื่องอายุเยอะต้องปล่อย Fake NEWS มากกว่า วิธีตรวจสอบข่าวสารว่าเป็น Fake NEWS หรือไม่ ดูได้จากแหล่งที่มาของข่าวว่าน่าเชื่อถือหรือไม่ และควรมาจากสำนักข่าวที่เป็นที่รู้จักเพราะองค์กรเหล่านี้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนนำเสนอ เช็คกับผู้รู้หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช็คจากแหล่งข่าวหลายแหล่งก่อนแชร์เนื้อหา ข้อสุดท้ายคือ หากแชร์เรื่องที่เป็นเท็จอาจเป็นอันตรายต่อผู้รับสารจะกลายเป็นเกิดบาปมากกว่าบุญ“ ซีอีโอ คนรุ่นใหม่ กล่าว

ทางด้าน ดร.สรวงมณฑ์ สิทธิสมานกล่าวว่าเรื่อง Fake NEWS ไม่ใช่ปัญหาแค่ในประเทศไทย แต่เป็นปัญหาทั่วโลกผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกใช้คำว่า Infodemic เป็นคำผสมจาก Information (ข้อมูล) + Pandemic (โรคระบาด) แปลว่าเรากำลังต่อสู้กับข้อมูลที่ผิดซึ่งกำลังระบาดอย่างร้ายแรง เมื่อมีสถานการณ์วิกฤต ภัยพิบัติเกิดขึ้นข่าวปลอมเหล่านี้จะมาทันที และผู้สูงวัยจะตกเป็นเหยื่อที่สูงสุด เพราะปรับตัวเรื่องเทคโนโลยีได้ยากกว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เป็นพลเมืองดิจิทัลไปแล้ว

“มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งของสหรัฐอเมริกาของ มหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน บอกว่าผู้สูงอายุเป็นกลุ่มเป้าหมายทางการตลาดของโลกออนไลน์ เป็นเหยื่อที่ถูกหลอกง่ายมากกว่ากลุ่มอื่นถึง 7 เท่า พวกมิจฉาชีพที่ต้องการปล่อยข่าวให้มีการไปลือต่างๆ นาๆ กลุ่มผู้สูงอายุจะเป็นกลุ่มเสี่ยงในการรับข่าวสารนี้ชัดเจน เราควรทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุรู้ทันสื่อ ที่ผ่านมา กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ร่วมกับ สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำโครงการโคแฟค (Cofact : Collaborative Fact Checking)มีพื้นที่กลางในการให้ทุกฝ่ายมาช่วยกันค้นหาข้อเท็จจริงได้ที่ https://cofact.org เป็นการฝึกให้ทุกคนดับเบิ้ลเช็คก่อน เราสามารถสร้าง โคแฟคภายในบ้านได้ แต่ละครอบครัวต้องมีคนทำหน้าที่โคแฟคในบ้านการสนทนาแลกเปลี่ยนกันในครอบครัวจะเป็นการป้องกัน และสร้างภูมิคุ้มกันได้ทางหนึ่ง เมื่อมีความรู้เท่าทันแล้ว คนในครอบครัวอาจเป็นคนกลางในระดับชุมชนได้

ในช่วงท้าย ดร.สรวงมณฑ์ เผยว่า ถ้าสังคมต้องการเปลี่ยนและทำให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ จะต้องมีตัวกลางในทุกระดับ ทั้งระดับป้องกันในครอบครัว ระดับสร้างภูมิคุ้มกัน ไปจนถึงระดับการลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งภาคประชาสังคมต้องเดินก่อน เพราะภาครัฐยังทำไม่ทัน หากทำได้เช่นนี้จะช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของข่าวปลอมได้