UOB ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้าเวียดนามได้กว่า 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ผ่านข้อตกลงกับ Foreign Investment Agency

0
6585
image_pdfimage_printPrint

ธนาคารช่วยเหลือในการดึงเงินลงทุนเพิ่มอีกกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์ ภายใต้การขยายขอบเขตข้อตกลงกับ FIA

ธนาคารยูโอบี ก้าวไปอีกขั้นในการช่วยเหลือบริษัทต่าง ๆ คว้าโอกาสในเศรษฐกิจที่เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาค เช่นประเทศเวียดนาม[1] หลังดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้าเวียดนามได้กว่า 3 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์[2] ซโดยล่าสุด ธนาคารยูโอบีและ Foreign Investment Agency (FIA) [3] แห่งเวียดนาม ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) เพิ่มเติม ในการที่ธนาคารยูโอบีจะสนับสนุนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เข้าสู่เวียดนามเพิ่มอีกกว่า 1.5 พันล้านดอลลาร์สิงคโปร์

เวียดนามมีมูลค่า FDI ที่เกิดขึ้นจริงในทุกภาคอุตสาหกรรมเกือบ 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้[4] ซึ่ง ธนาคารยูโอบีกำลังช่วยเหลือบริษัทจากทั่วภูมิภาคให้ไม่พลาดโอกาสในการลงทุนในเวียดนาม โดยให้ความสำคัญกับภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ที่รัฐบาลเวียดนามต้องการพัฒนา ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน การผลิต โครงสร้างพื้นฐาน สุขภาพ และเทคโนโลยี

ธนาคารยูโอบีมองเห็นโอกาสจากระเบียงการค้าระหว่างอาเซียนกับสาธารณรัฐประชาชนจีน และได้ช่วยให้บริษัทกว่า 150 แห่งเข้าไปลงทุนในเวียดนาม และตั้งเป้าเพิ่มจำนวนอีกเท่าตัวภายใต้ ข้อตกลงฉบับล่าสุด และธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งสนับสนุนอุตสาหกรรมเหล่านี้จะได้ประโยชน์ด้วยในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน โดยคาดว่าการลงทุนระลอกใหม่จะช่วยสร้างงานกว่า 2,000 ตำแหน่งในเวียดนาม เพิ่มขึ้นจากกว่า 17,000 ตำแหน่งงานที่เกิดขึ้นภายใต้ข้อตกลงฉบับแรก นอกจากนี้ ยังมีแนวโน้มว่าบริษัทสิงคโปร์จะเข้าไปลงทุนในเวียดนามมากขึ้น ซึ่งเป็นผลพวงจากการดำเนินธุรกิจระหว่างสองประเทศที่เพิ่มขึ้น

ความสัมพันธ์ระหว่างธนาคารยูโอบี กับเวียดนาม เริ่มต้นขึ้นในปี 1993 เมื่อทางธนาคารได้เปิดสำนักงานตัวแทนในประเทศนี้

[1] ในบรรดา 5 เขตเศรษฐกิจอาเซียน ประกอบด้วยอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ที่มา: รายงาน World Economic Outlook, October 2020: A Long and Difficult Ascent กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

[2] มีผลภายใต้บันทึกความเข้าใจ (MOU) ที่ UOB ลงนามกับ Foreign Investment Agency ของเวียดนาม ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากข่าวประชาสัมพันธ์ของยูโอบี หัวข้อ “UOB and Vietnam’s Foreign Investment Agency sign MOU to boost trade between Vietnam and Southeast Asia” , 19 เมษายน 2015

[3] FIA คือหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการวางแผนและลงทุนของเวียดนาม ซึ่งสนับสนุน FDI ในเวียดนาม และบริษัทเวียดนามที่ไปลงทุนในต่างประเทศ

[4] ที่มา: รายงาน “FDI Brief Report in the nine months of 2020” กระทรวงการวางแผนและลงทุน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม, 26 กันยายน 2020

ธนาคารยูโอบียังคงเป็นธนาคารแห่งแรกและแห่งเดียวของสิงคโปร์ที่จัดตั้งสาขาในเวียดนามโดยที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ ซึ่งจัดตั้งในปี 2018

นายวี อี เชียง รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารยูโอบี กล่าวว่า “ที่ยูโอบี เราสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของเวียดนามนับตั้งแต่หยั่งรากในประเทศนี้เมื่อเกือบ 30 ปีก่อน ซึ่งไม่นานมานี้ เราได้เห็นถึงการเติบโตของเวียดนาม ที่ขับเคลื่อนโดยเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง และกำลังจะก้าวเป็นเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของอาเซียนภายในสิ้นปีนี้[5]

“การขยายขอบเขตของบันทึกข้อตกลงกับ FIA นี้ตอกย้ำความสัมพันธ์ที่แนบแน่นและความร่วมมือในการช่วยบริษัทในภูมิภาคคว้าโอกาสจากเศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วของเวียดนาม ตลอดจนขับเคลื่อนการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกระตุ้นการไหลเวียนของการค้าและสร้างงานในอาเซียน ซึ่งด้วยเครือข่ายการเชื่อมต่อที่ไร้รอยต่อและความเชี่ยวชาญเฉพาะในอุตสาหกรรมทั่วภูมิภาคของเรา ทำให้ธนาคารยูโอบีสามารถสนับสนุนบริษัทที่ต้องการปรับเส้นทางซัพพลายเชน ท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดทั่วโลก”

ธนาคารยูโอบีในเวียดนามมีสำนักงาน 3 แห่ง โดย 2 แห่งอยู่ในกรุงโฮจิมินห และอีกแห่งที่กรุงฮานอย ซึ่งมอบ บริการทางการเงินให้กับผู้บริโภคและธุรกิจในเวียดนาม ธนาคารให้บริการธนาคารผ่าน UOB Mighty แอปพลิเคชันธนาคารบนมือถือ และในปี 2013 ทางธนาคารได้จัดตั้งทีม FDI Advisory โดยเฉพาะในเวียดนาม[6] ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการขยายขอบเขตการให้บริการลูกค้าทั่วภูมิภาคในการลงทุนในเวียดนาม

การขยายขอบเขตบันทึกข้อตกลงในครั้งนี้ จะทำให้ FIA เปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้ต่างชาติเข้าถึงการลงทุนนอกเหนือจากเมืองหลัก ๆ อย่างโฮจิมินห์และฮานอย ไปยังการลงทุนในเมืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เช่น แบกนินห์ ไฮดอง บินห์เซือง และด่งนาย

นายตรัน ดุย ดอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการวางแผนและลงทุนในเวียดนาม กล่าวว่า “ความเข้มแข็งและเสถียรภาพของเศรษฐกิจเวียดนามทำให้เวียดนามเป็นจุดหมายของ FDI อย่างต่อเนื่องจากธุรกิจทั่วโลก ซึ่งขับเคลื่อนโดยโอกาสทางธุรกิจที่ขยายตัวจากประชากรวัยหนุ่มสาว แรงงานที่มีการศึกษา และการเติบโตของชนชั้นกลาง องค์กรจำนวนมากยังต้องลงทุนและขยายธุรกิจในเวียดนาม ซึ่งสนับสนุนโดยศักยภาพด้านการผลิตที่ทันสมัยและนวัตกรรมทางเทคโนโลยีในเมืองที่พัฒนาอย่างรวดเร็วนอกเหนือจากจุดหมาย FDI ดั้งเดิมอย่างโฮจิมินห์และฮานอย

[5] ที่มา: รายงาน World Economic Outlook, October 2020: A Long and Difficult Ascent กองทุนการเงินระหว่างประเทศ

[6] ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากข่าวประชาสัมพันธ์หัวข้อ “UOB paves the way for Vietnamese businesses expanding into Asia with launch of FDI Advisory Unit”,25 กันยายน 2013

“จากการขยาย-ขอบเขตข้อตกลงกับธนาคารยูโอบีในครั้งนี้ เราเชื่อว่าจะมีองค์กรมากขึ้นที่สามารถคว้าโอกาสจากการเติบโตและการลงทุนในเวียดนาม และยังแสดงให้เห็นความร่วมมือที่แข็งแกร่งและยาวนานของเรากับยูโอบี เพื่อขับเคลื่อน FDI สู่เวียดนามเพิ่มขึ้น”

ภายใต้บันทึกข้อตกลงฉบับดังกล่าว FIA จะให้คำปรึกษาด้านนโยบายการลงทุนแก่บริษัทที่ ธนาคารยูโอบีแนะนำ รวมถึงช่วยเหลือในขั้นตอนยื่นขอการสนับสนุนการลงทุน โดยทีม UOB FDI Advisory จะให้ข้อมูลอินไซต์ท้องถิ่น การเริ่มธุรกิจในตลาด และโซลูชันทางการเงินตามความต้องการของลูกค้า ตลอดจนเชื่อมต่อพวกเขากับโอกาสทางธุรกิจระดับภูมิภาค ซึ่ง UOB FDI Advisory และ FIA จะจัดงานสัมมนาออนไลน์ร่วมกับบริษัทพันธมิตรของธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐบาล บริษัทที่ปรึกษา และบริษัทข้ามชาติ เพื่อแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญและแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดของการลงทุนในเวียดนาม

พิธีลงนามบันทึกข้อตกลง จัดขึ้นผ่านทางออนไลน์เมื่อเร็วๆนี้ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลเวียดนามและผู้บริหารของธนาคารยูโอบีเข้าร่วม

ช่วยบริษัทขยายกิจการในเวียดนาม

เวียดนามยังคงเป็นจุดหมายสำคัญของเงินลงทุนจากต่างประเทศ อย่างต่อเนื่อง ด้วยอัตราการเติบโตของ FDI เฉลี่ย 9% ตั้งแต่ปี 2015-2019[7] ความน่าดึงดูดของเวียดนามสำหรับนักลงทุนต่างชาติยังไม่ลดลงแม้ในช่วงที่เกิดโรคระบาดโควิด-19 โดยอัตราการขยายตัวของ GDP ของเวียดนามอยู่ที่ 2.62% ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2020 แม้เศรษฐกิจของหลายประเทศทั่วภูมิภาคจะหดตัวในช่วงเวลานี้ก็ตาม[8]

จากการที่ภาคธุรกิจสิงคโปร์ยกให้เวียดนามเป็นตลาดอันดับหนึ่งของพวกเขาสำหรับการขยายธุรกิจในต่างประเทศ[9] ธนาคารยูโอบีจะเดินหน้าทำงานกับหน่วยงานรัฐบาลและสมาคมการค้าของสิงคโปร์ต่อไป เพื่ออำนวยความสะดวกในการลงทุนในเวียดนาม โดย Sembcorp เป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่ยูโอบี ทำงานด้วยอย่างใกล้ชิดในเวียดนาม เพื่อสนับสนุนโครงการนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ

[7] ที่มา: ข้อมูลธนาคารโลก https://data.worldbank.org/indicator/BX.KLT.DINV.CD.WD?end=2019&locations=VN&start=2015 เข้าถึงเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020

[8] ที่มา: Vietnam: A Soft Rebound in 3Q, UOB Global Economics and Markets Research วันที่ 29 กันยายน 2020

[9] ที่มา: “SBF and Enterprise Singapore lead business mission to Vietnam to explore emerging opportunities amid robust commercial interest” Singapore Business Federation วันที่ 15 กรกฎาคม 2019

นายเคลวิน เตียว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร Sembcorp Development กล่าวว่า “เวียดนามเป็นตลาดสำคัญของ Sembcorp Development เราบริหารเขตนิคมอุตสาหกรรม 10 แห่งในเวียดนามภายใต้การร่วมทุน VSIP[10] ซึ่งมีอยู่ 3 แห่งที่เปิดตัวไปเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยยูโอบีได้สนับสนุนการเติบโตของ Sembcorp ในเวียดนาม และยินดีในการสานต่อความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งในขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาโซลูชันเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาอุตสาหกรรมของเวียดนาม”

ธนาคารยูโอบียังช่วยเหลือสตาร์ทอัพและธุรกิจเอสเอ็มอีทั่วอาเซียน ในการร่วมลงทุนในเวียดนาม โดยในปี 2019 ธนาคารเชื่อมต่อ Ruangguru ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพของอินโดนีเซียที่ให้บริการโซลูชันเทคโนโลยีการศึกษา เข้ากับ FIA เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดตั้งฐานการดำเนินงานในเวียดนาม นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านการธนาคารท้องถิ่นที่จำเป็น

ปีนี้ธนาคารยังช่วย Esco Lifesciences Group บริษัทด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพของสิงคโปร์ ในการขยายธุรกิจในเวียดนาม โดยจัดหาโซลูชันการธนาคารเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในเวียดนาม และธุรกรรมการค้าข้ามพรมแดน ตลอดจนช่วยบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

[10] หมายถึง Vietnam Singapore Industrial Park (VSIP) โดยเมื่อปี 2018 UOB ลงนาม MOU กับ VSIP JV ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง Sembcorp Development ของสิงคโปร์ และ Becamex IDC ของเวียดนาม เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการทำ FDI ในเวียดนาม ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้จากข่าวประชาสัมพันธ์ หัวข้อ “UOB Vietnam signs first MOU to encourage foreign direct investment nto Vietnam following its official subsidiary launch”, 9 สิงหาคม 2018

เกี่ยวกับ ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์

ธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ จำกัด (ยูโอบี) คือธนาคารชั้นนำในเอเชียที่มีเครือข่ายสำนักงานกว่า 500 แห่ง ใน 19 ประเทศและดินแดน ทั้งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยนับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปีพ.ศ. 2478 ยูโอบีได้สร้างการเติบโตจากภายในองค์กรเองและผ่านการเข้าซื้อกิจการเชิงกลยุทธ์มาอย่างต่อเนื่อง ยูโอบีได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งในธนาคารชั้นนำของโลก โดยได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ Aa1 โดยมูดีส์ และระดับ AA- โดยสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ และฟิทช์ เรทติงส์ สำหรับในเอเชีย ยูโอบีดำเนินกิจการผ่านสำนักงานใหญ่ในประเทศสิงคโปร์ และสำนักงานสาขาในจีน อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และเวียดนาม ตลอดจนสาขาธนาคารและสำนักงานตัวแทนทั่วภูมิภาค

ตลอดระยะเวลากว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมา พนักงานของยูโอบีจากรุ่นสู่รุ่นต่างมุ่งมั่นทำงานด้วยจิตวิญญาณของความเป็นผู้ประกอบการ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าในระยะยาวและยึดมั่นต่อพันธกิจในการทำสิ่งที่ถูกต้องเพื่อลูกค้าและเพื่อนร่วมงานของเรา

เราเชื่อในการเป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่มีความรับผิดชอบ และมุ่งมั่นที่จะพัฒนาชีวิตของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและชุมชนที่เราดำเนินกิจการอยู่ทุกแห่ง ควบคู่ไปกับการทุ่มเทช่วยเหลือลูกค้าให้สามารถบริหารการเงินของตนเองอย่างชาญฉลาดและผลักดันให้ธุรกิจเติบโต ตลอดจนยึดมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาสังคม โดยเฉพาะในด้านศิลปะ เยาวชน และการศึกษา