Cloud Computing – Big Data แรงต่อเนื่อง 4G ไทยเอื้อ Internet of Things เด่นเทรนด์ไอทีปี 2016

0
618
image_pdfimage_printPrint

BA5A8039

Cloud Computing – Big Data แรงต่อเนื่อง 4G ไทยเอื้อ Internet of Things เด่นเทรนด์ไอทีปี 2016

ต่อเนื่องจากปีนี้ Cloud Computing และ Big Data จะยังเป็นเทรนด์เด่นของโลกไอทีตลอดปี 2016 โดยเฉพาะในประเทศไทยที่การสำรวจล่าสุดพบว่าหน่วยงานไทยเดินหน้าลุย 2 เทคโนโลยีนี้อย่างเด่นชัดยิ่งกว่าเดิม ที่สำคัญ บริการ 4G จะเป็นปัจจัยเอื้อให้การใช้งานไอทีบนอุปกรณ์พกพาของคนไทยขยายตัวก้าวกระโดด สะท้อนให้เห็นทั้งในแง่จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้น และการใช้ระบบ Internet of Things ที่แพร่หลายกว่าเดิม

ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการ สถาบัน IMC ระบุว่าจากการสำรวจทั้งในประเทศไทยและตลาดโลก การใช้งานเทคโนโลยี Cloud Computing และ Big Data จะยังเป็นเทรนด์ที่โดดเด่นในปี 2016 โดยเฉพาะองค์กรจะหันมาใช้ซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสาร รวมถึงอินฟราสตรัคเจอร์ Cloud Computing ในภาพรวมมากขึ้น

“การศึกษาล่าสุดพบแนวโน้มชัดเจนว่า Cloud มาแน่นอนในปีหน้า หลายหน่วยงานทั้งเล็กและใหญ่ให้ความสนใจทั้ง Public Cloud และ Private Cloud โดยเฉพาะบริการ SaaS ทั้งระบบ E-mail หรือระบบซอฟต์แวร์สร้างงานเอกสาร เช่น Office อินฟราสตรัคเจอร์ Cloud Computing จะมีการใช้งานมากขึ้น แต่เป็นของบริษัทต่างประเทศ”

สำรวจพบองค์กรไทยเกิน 50% ตื่นตัว Cloud
IMC Institute (สถาบันไอเอ็มซี) ได้เริ่มทำการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง Cloud Computing in Thailand Readiness Survey ครั้งแรกในปีที่แล้ว สำหรับปีนี้ ผลการสำรวจความพร้อมด้าน Cloud Computing ของหน่วยงานในประเทศไทยสะท้อนให้เห็นว่าหน่วยงานในประเทศไทยมีความตื่นตัวในการใช้ Cloud Computing มากขึ้น หน่วยงานมากกว่าครึ่งหนึ่งมีการทำหรือมีแผนที่ใช้ Private Cloud และก็มีหน่วยงานจำนวนมากสนใจที่จะใช้ Public Cloud โดยเฉพาะในส่วนของ SaaS

เมื่อวิเคราะห์ดูข้อมูลแล้วพบว่าในกรณีของการใช้ Public Cloud หน่วยงานส่วนใหญ่ยังใช้บริการของต่างประเทศ ซึ่งในแง่ของ SaaS จะเน้นการใช้บริการทางด้าน E-mail, Desktop/Office และ Storage จากการสัมภาษณ์ พบว่าหน่วยงานต่างๆเห็นประโยชน์ของการนำ Cloud Computing มาใช้ในแง่ของการลดค่าใช้จ่าย ทำงานได้อย่างต่อเนื่อง การขยายขนาดของการใช้งานได้รวดเร็ว รวมถึงความมีเสถียรภาพของระบบ แต่ก็มีความกังวลในเรื่องของความปลอดภัย การขาดบุคลากร รวมถึงกฎระเบียบที่ไม่เอื้ออำนวย

สำหรับการวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง Cloud Computing in Thailand Readiness Survey มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความพร้อมของประเทศไทยในด้านนี้ การสำรวจครอบคลุมหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งที่เป็นขนาดใหญ่และขนาดกลาง ขนาดเล็ก และเพื่อเป็นแนวทางและข้อมูลในการเตรียมความพร้อมบุคลากรและองค์กรในประเทศไทยต่อไป

ในปีนี้ IMC Institute ใช้วิธีการสำรวจจากแบบสอบถามออนไลน์และวิธีการสัมภาษณ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม ถึง 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 ไปยังกลุ่มผู้บริหาร ผู้อำนวยการ/ผู้จัดการและพนักงานทั้งในสายไอทีแลสายงานอื่นๆ ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน โดยมีผู้เข้าร่วมโครงการสำรวจจำนวน 152 ราย ทำให้สามารถสะท้อนภาพรวมขององค์กรในประเทศไทยเกี่ยวกับสถานการณ์ด้านการใช้ Cloud Computing ในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

Big Data – SmartPhone – IoT มาแน่นอน
นอกจาก Cloud Computing ปี 2016 จะเป็นอีกปีที่ Big Data เข้ามามีบทบาทสูงในองค์กรธุรกิจ เนื่องจากธุรกิจทุกส่วนมีแนวโน้มประยุกต์และลงทุนโครงข่ายข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งไม่เพียงหน่วยงานโทรคมนาคมหรือธนาคาร แต่หลายภาคอุตสาหกรรมต่างเห็นความสำคัญและลงทุนเพื่อนำเทคโนโลยี Big Data มาเสริมแกร่งทางธุรกิจ

ที่สำคัญ ตลาดอุปกรณ์ไอทีพกพาหรือโมบายล์จะขยายตัวชัดเจนในปีหน้า โดยเฉพาะปริมาณการใช้งานสมาร์ทโฟนที่จะเพิ่มขึ้น ส่งให้การใช้แอปพลิเคชันจากสมาร์ทโฟนเพื่อสั่งการอุปกรณ์ต่างๆ (Internet of Things) มีตลาดที่ขยายตัวตามไปด้วย

จุดนี้ ดร.ธนชาติเชื่อว่า 4G จะเป็นปัจจัยเสริมที่ทำให้ปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทยเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันที่มี 30 กว่าล้านเครื่อง คาดว่าปีหน้าจะเติบโตประมาณ 45 ล้านเครื่อง ซึ่งจะทำให้ภาพรวมการใช้งานเทคโนโลยีในองค์กรธุรกิจและผู้บริโภคทั่วไปขยายตัวยิ่งขึ้นชัดเจนเมื่อเทียบกับปี 2015

IT Trends Prediction 2016
1. บริษัทต่างๆ ในประเทศไทยจะเริ่มมีการใช้ Cloud Computing อย่างเต็มที่ในปีหน้า โดยมีบริษัทจำนวน 55% ที่ใช้ Cloud ในรูปแบบใดแบบหนึ่ง (IaaS, PaaS หรือ SaaS)
2. กลุ่มอุตสาหกรรม การเงินการ ธนาคาร ประกันภัย เทเลคอม และค้าปลีกในประเทศไทย จะเป็นกลุ่มที่จะเริ่มลงทุนทางด้าน Big Data เนื่องจากจะมีการแข่งขันกันอย่างมากในเรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูล
3. การเข้ามาของ 4G จะทำให้คนไทยมีการใช้อุปกรณ์อย่าง Smartphone มากขึ้นและตัวเลขของ Smartphone ในประเทศจะเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 40 ล้านเครื่อง
4. IoT จะยังเป็นกระแสที่อุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทยไทยให้ความสนใจ แต่ยังไม่สามารถที่จะมีบุคลากรหรือใช้งานได้อย่างแพร่หลายในปีหน้า
5. แนวโน้มของการปฎิวัติอุตสาหกรรมรอบใหม่กำลังใกล้เข้ามาที่พูดถึงเรื่อง Robot, Cyber หรือ Analytics แต่อุตสาหกรรมไทยยังขาดความพร้อม จะเห็นได้จากว่า Gartner Strategic IT Trends 2016 ที่เพิ่งออกมาทำให้เสมือนอุตสาหกรรมไอทีเราเริ่มห่างออกไป
6. คนไทยจะเริ่มคุ้นเคยกับ SaaS มากขึ้น การซื้อขายซอฟต์แวร์ของผู้บริโภคที่เป็นแบบ Licensing จะเริ่มลดลงและจะถูกแทนที่ด้วยโมเดล Subscription
7. Cloud storage / Application จะมีการใช้งานมากขึ้น ประกอบกับปัญหาจราจรจะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดกระแสการทำงานแบบ Mobility มากยิ่งขึ้น
8. Mobile Banking/Payment จะมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ตัวเลขบัญชีผู้ใช้ Mobile Banking ในประเทศไทยจะพุ่งขึ้นเกิน 9 ล้านบัญชีในปีหน้า
9. การเปิด AEC ในปีหน้าจะทำให้ธุรกิจผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมมีการแข่งขันมากยิ่งขึ้น จำเป็นที่จะต้องนำดิจิทัลเทคโนโลยีเข้ามาใช้ทั้งการติดต่อสื่อสารและการค้าแบบอีคอมเมิรซ์
10. กระแสของการออกกำลังกายของคนไทยจะเป็นตัวกระตุ้นทำให้อุปกรณ์ IoT ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพที่เป็น Wearable Devices ต่างๆ เป็นที่นิยมมากขึ้น