โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1

0
355
image_pdfimage_printPrint

IMG_8537-Medium

กรุงเทพมหานคร ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ที่ปรึกษาโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) ซึ่งดำเนินงานศึกษาวิจัยทางวิชาการ สำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทระยะ 57 กม. และระยะนำร่อง 14 กม. เพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดเวทีสาธารณะรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 ณ ห้องอมรินทร์ โรงแรม เอส. ดี. อเวนิว ปิ่นเกล้า จากภาคประชาชน หน่วยงาน องค์กร และภาคส่วนต่างๆ ในการฟื้นฟูแม่น้ำ พัฒนาภูมิทัศน์วัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และพื้นที่สาธารณะของประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน ให้มีความสมบูรณ์และครอบคลุมถึงประเด็นสำคัญทุกมิติ โดยให้ความสำคัญกับกระบวนการมีส่วนร่วมและการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยแนวทางสืบสานอนุรักษ์อย่างบูรณาการ พัฒนาจากพื้นฐาน “มรดกวัฒนธรรม” เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน พร้อมลงพื้นที่เพื่อเตรียมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม IEE และ EIA เมื่อแบบแล้วเสร็จต่อไป

รศ.ดร.สกุล ห่อวโนทยาน ผู้จัดการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) กล่าวว่า การจัดเวทีสาธารณะในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแนะนำโครงการ ชี้แจงเหตุผลความจำเป็น นำเสนอสาระสำคัญ พื้นที่ศึกษาโครงการ แผนการดำเนินงาน แนวทางศึกษาของโครงการ และประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับให้ทุกภาคส่วนที่เข้าร่วมประชุมได้รับทราบถึงข้อมูลและจุดยืนโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาพร้อมกันอีกครั้ง พร้อมเปิดรับฟังความเห็นเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยา พัฒนาภูมิทัศน์ และโครงข่ายทางเดิน-ปั่น เชื่อมต่อพื้นที่สีเขียว นันทนาการ วัฒนธรรม ระบบขนส่งสาธารณะ และการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ให้มีความสมบูรณ์ครอบคุลมทุกมิติ ซึ่งจะสรุปและนำเสนอต่อคณะอนุกรรมการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาต่อไป ส่วนความคืบหน้าของโครงการในเดือนแรกจะเน้นไปที่การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเป็นหลัก ส่วนงานด้านอื่นๆ คณะทำงานก็ได้เดินหน้างานแต่ละส่วนตามเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้อย่างมีประสิทธิภาพ

รศ.ดร.วันเพ็ญ วิโรจนกูฎ ผู้ชำนาญการด้านสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) กล่าวว่า ในการเตรียมการศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ช่วงเดือนมีนาคม 2559 คณะทำงาน ได้ศึกษาทบทวนข้อมูลทุติยภูมิ ข้อกฎหมาย ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในด้านสิ่งแวดล้อม และรายงานผลการศึกษาโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้วเสร็จ พร้อมทั้งได้จัดเตรียมข้อมูลทุติยภูมิสำหรับการเตรียมจัดทำร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) โครงการสำรวจ ออกแบบและจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ระยะ 57 กม. (แผนแม่บท) โดยมีประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมสำหรับการจัดทำรายงานดังกล่าว ดังนี้ 1.) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้านกายภาพ 2.) ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมด้านชีวภาพ 3.) คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ และ 4.) คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต

ส่วนการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมในเดือนเมษายน เนื่องจากแบบยังไม่เสร็จ เราจึงเตรียมการวางแผนงานไว้ ดังนี้ 1.เตรียมแบบร่างรายงานการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE) 2.) วางแผนการออกสำรวจภาคสนามและกำหนดกลุ่มเป้าหมายเบื้องต้น ในการสำรวจความคิดเห็นข้อมูลสภาพเศรษฐกิจสังคมของกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานราชการ ผู้นำชุมชน ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ศึกษาบริเวณพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาในเขตกรุงเทพมหานคร 3.) วางแผนการออกสำรวจภาคสนามในการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมในช่วงการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมช่วงสะพานพระราม 7 – สะพานพระปิ่นเกล้า ระยะทางนำร่อง 14 กม. ได้แก่ ระดับเสียง ในชุมชนหรือสถานที่อ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบ 4 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 วัดตึก สถานีที่ 2 โรงพยาบาลวชิระ (ด้านริมน้ำ) สถานีที่ 3 วัดราชาธิวาส สถานีที่ 4 วัดคฤหบดี เป็นเวลาสถานีละ 5 วันต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งวันทำงานและวันหยุดราชการ คุณภาพอากาศ ในชุมชนหรือสถานที่อ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบอย่างน้อย 2 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 โรงพยาบาลวชิระ (ด้านริมน้ำ) และสถานีที่ 2 วัดคฤหบดี โดยเก็บตัวอย่างสถานีละ 5 วันต่อเนื่อง ครอบคลุมทั้งวันทำงานและวันหยุดราชการ ซึ่งการตรวจวัดมลสารจะใช้วิธีการที่เป็นที่ยอมรับของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และองค์การพิทักษ์สิ่งแวดล้อมแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา (US. EPA) ความสั่นสะเทือน ตามดัชนี Peak particle velocity และความถี่ ในชุมชนหรือสถานที่อ่อนไหวต่อการได้รับผลกระทบอย่างน้อย 2 สถานี ได้แก่ สถานีที่ 1 โรงพยาบาลวชิระ (ด้านริมน้ำ) และสถานีที่ 2 วัดคฤหบดี และ คุณภาพน้ำและนิเวศวิทยาทางน้ำ การตรวจวัดคุณภาพน้ำจะทำการเก็บตัวอย่างโดยใช้กระบอกเก็บตัวอย่างน้ำ (Water Sampler) ทำการเก็บน้ำที่บริเวณจุดกึ่งกลางลำน้ำและกึ่งกลางความลึกของลำน้ำ อย่างน้อย 3 สถานี ที่ในแม่เจ้าพระยา สถานีที่ 1 บริเวณใต้สะพานพระราม 7 (ต้นโครงการ) สถานีที่ 2 บริเวณหน้าวัดอาวุธวิกสิตาราม (กึ่งกลางโครงการระหว่างสะพานพระราม 7 กับสะพานพระปิ่นเกล้า) และสถานีที่ 3 ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า (ปลายโครงการ) ส่วนนิเวศวิทยาทางน้ำในการสำรวจภาคสนามจะเน้นสิ่งมีชีวิตในน้ำเป็นหลักทั้งชนิดและปริมาณ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพลงก์ตอนพืช (Phytoplankton) และแพลงก์ตอนสัตว์ (Zooplankton) โดยเก็บตัวอย่างจาก 3 สถานีเดียวกับการตรวจวัดคุณภาพน้ำ และ 4.) การวิเคราะห์สภาพสิ่งแวดล้อมปัจจุบันช่วงสะพานพระราม 7 – สะพานพระปิ่นเกล้าระยะทางไป – กลับ 14 กม.เพื่อนำไปประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อไป

ด้าน ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี โฆษกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กล่าวว่า ขณะนี้โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยในครั้งนี้เป็นการเปิดเวทีสาธารณะรับฟังความเห็นแบบวงกว้างครอบคลุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้ได้ข้อเสนอแนะ และมุมมองต่างๆ อย่างรอบด้าน หลังจากที่ก่อนหน้านี้คณะทำงานได้จัดลงพื้นที่จัดประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 1 จำนวน 32 ชุมชน ในระยะนำร่อง 14 กม. และประชุมหารือกับตัวแทนเจ้าหน้าที่เขต และชุมชน รวม 17 เขต ตลอดพื้นที่ศึกษาโครงการ 57 กม. และประชุมหารือกับหน่วยงานราชการ ศาสนสถาน และภาคเอกชน ริมน้ำ รวมทั้งการสัมภาษณ์เชิงลึกนักวิชาการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ไปแล้ว 1 ครั้ง ข้อสรุปในภาพรวมพบปัญหาของชุมชนมีลักษณะคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ปัญหาน้ำท่วมขังซึ่งเกิดจากเขื่อนรั่วซึมและกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ปัญหาเขื่อนกั้นแม่น้ำเจ้าพระยาสูงจนบดบังทางลมและทิวทัศน์ริมน้ำ ปัญหาการรุกล้ำสร้างที่พักอาศัยบนแม่น้ำ พบว่ามีจำนวน 10 ชุมชน รวม 285 ครัวเรือน ซึ่งคณะทำงานโครงการทำงานร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. เข้ามาจัดกระบวนเพื่อพัฒนาชุมชน เช่น การทำกลุ่มออมทรัพย์ สร้างความเป็นชุมชนให้แข็งแรง และร่วมกับชุมชนหาพื้นที่ที่เหมาะสมในการอยู่อาศัยต่อไป รวมถึงปัญหาเส้นทางสัญจรภายในชุมชนคับแคบและขาดพื้นที่สาธารณะสำหรับการพักผ่อนหย่อนใจ นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะว่า ต้องการให้เพิ่มพื้นที่สาธารณะและปรับปรุงภูมิทัศน์โดยคำนึงถึงประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตและวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ เน้นการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงความปลอดภัยชุมชนริมน้ำ

ขั้นตอนต่อไปของกระบวนการมีส่วนร่วม คือ จัดประชุมรับฟังความเห็นกลุ่มย่อย (Focus Group) ครั้งที่ 2 จำนวน 32 ชุมชน ในระยะนำร่อง 14 กม. ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 59 เป็นต้นไป เพื่อสรุปข้อเสนอแนะและปัญหาต่างๆ จากการประชุมกลุ่มย่อยครั้งที่ 1 และเตรียมทำ “กระบวนการโบราณคดีชุมชน” เพื่อร่วมกันถอดองค์ความรู้ทางมรดกวัฒนธรรมและนำไปต่อยอดพัฒนาอย่างยั่งยืน
โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะมีแผนจัดเวทีสาธารณะการมีส่วนร่วมของประชาชนอีก 2 ครั้ง ได้แก่ การจัดประชุมเพื่อนำเสนอรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสมของโครงการ ในช่วงประมาณเดือนมิถุนายน 2559 และจัดประชุมสรุปผลการศึกษาของโครงการในทุกด้านอีกครั้ง ประมาณเดือนกันยายน 2559

อาจารย์รณฤทธิ์ ธนโกเศศ ภูมิสถาปนิกและผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์และชุมชน กล่าวว่า โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา (Chao Phraya for All) กำลังศึกษาวิจัยอย่างเข้มข้นเพื่อฟื้นฟูแม่น้ำเจ้าพระยาที่เคยเป็นแม่น้ำสำหรับทุกคนในอดีต กลับมาเป็นแม่น้ำของทุกคนในวันนี้และอนาคตอีกครั้ง ในตอนนี้เราพบว่าสภาพปัจจุบันของแม่น้ำเจ้าพระยาและพื้นที่สองฝั่งซึ่งเป็นเมืองกำลังเสื่อมโทรมทั้งธรรมชาติและสภาพของวัฒนธรรมสองฝั่งริมน้ำกำลังสูญหายไป และโครงการนี้จะช่วยรักษาธรรมชาติและสืบสานวัฒนธรรม โดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “มรดกวัฒนธรรม” สจล. ไม่เพียงพัฒนาโดยการทำทางเดินหรือทางจักรยานเพียงอย่างเดียว คณะทำงานจะใช้กระบวนการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างยั่งยืน เน้นการบูรณาการอนุรักษ์ พัฒนา สืบสาน และสร้างสรรค์ บนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและประสบการณ์ทางนิเวศน์ธรรมชาติและภูมิทัศน์วัฒนธรรม อีกทั้งผสานกับองค์ความรู้ ประสบการณ์ และเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อปัญหาที่ซับซ้อนได้มากยิ่งขึ้นและยั่งยืนขึ้นภายใต้การมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน อย่างเข้มข้นในทุกมิติ เพื่อการร่วมฟังร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมทำและร่วมบริหารจัดการ โดยมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อนำสู่การปฏิบัติ คือ การพัฒนาคนและกายภาพแวดล้อมบนฐานองค์ความรู้ ภูมิปัญญาและมรดกทางวัฒนธรรม โดยใช้แม่น้ำเจ้าพระยาเป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งคณะทำงานได้มีแนวติดจัดตั้ง “ศูนย์การเรียนรู้เจ้าพระยา” อาจจะเป็นรูปแบบของศูนย์เรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์แบบศูนย์ชุมชน สำหรับเยาวชน ชุมชน ประชาชน ตลอดจนนักท่องเที่ยว ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องที่น่าสนใจ ประวัติศาสตร์ มรดกวัฒนธรรมริมฝั่ง ยุคสมัยต่างๆ ที่ปรากฏตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงภูมิปัญญาและให้ความรู้และประสบการณ์ต่างๆ แก่นักท่องเที่ยวด้วย

สำหรับหลักการอนุรักษ์และพัฒนานั้นมีแนวทางดำเนินการของโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาซึ่งสอดคล้องกับหลักสากลและยูเนสโก

ผู้ที่สนใจสามารถติดตามความคืบหน้าและแสดงข้อคิดเห็นต่อโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา(Chao Phraya for All) ได้ที่ www.chaophrayaforall.com, Facebook : Chao Phraya for All, ตู้ ปณ. 90 บางซื่อ กทม. 10800, E-mail : chaophrayaforall@gmail.com