แรงงาน เตือนผู้รับงานไปทำที่บ้านผ่านสื่ออิเลคทรอนิคระวังตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

0
337
image_pdfimage_printPrint

กระทรวงแรงงาน โดย กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เตือนผู้รับงานไปทำที่บ้านระวัง
ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ หลอกลวงให้ทำงานโดยไม่จ่ายค่าตอบแทน บางรายให้โอนเงินล่วงหน้าเป็นหลักประกันแล้ว
หนีหายไป แนะผู้ว่าจ้างและผู้รับงานฯ ปฏิบัติตามกฎหมายป้องกันการหลอกลวง
นายสุเมธ มโหสถ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กระทรวงแรงงาน
เปิดเผยว่า กสร.ได้รับการแจ้งว่าปัจจุบันมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์หลอกลวงผู้รับงานไปทำที่บ้าน
ในลักษณะของการโฆษณาผ่านสื่ออิเลคทรอนิคว่า มีงานให้ผู้รับไปทำที่บ้านทำ เช่น งานปักครอสติสตัวอักษร งานร้อยม่านดาว งานพับนก เป็นต้น แต่เมื่อผู้รับงานฯส่งมอบงานแล้วผู้ว่าจ้างก็ไม่จ่ายค่าตอบแทนให้
บางรายให้ผู้รับงานฯโอนเงินไปให้ก่อนเพื่อเป็นหลักประกันเมื่อได้รับเงินแล้วก็หนีหายไป ขณะที่ผู้เสียหาย
ไม่สามารถดำเนินการตามกฎหมายกับมิจฉาชีพเหล่านี้ได้ เพราะไม่ทราบว่าผู้ว่าจ้างเป็นใครเนื่องจาก
ไม่มีหลักฐานการว่าจ้าง กสร.จึงขอเตือนให้ผู้รับงานฯระมัดระวังกลุ่มมิฉาชีพเหล่านี้ อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้กำหนดหลักเกณฑ์เพื่อคุ้มครองผู้รับงานไปทำ
ที่บ้านไว้เป็นการเฉพาะ เช่น กำหนดให้ผู้จ้างงานจัดทำเอกสารเกี่ยวกับการรับงานไปทำที่บ้านมอบให้แก่
ผู้รับงานฯ ซึ่งจะต้องมีชื่อที่อยู่ทั้งของผู้ว่าจ้างและผู้รับงานฯ อัตราค่าตอบแทน การห้ามผู้ว่าจ้างเรียกหรือ
รับหลักประกันการทำงานหรือหลักประกันความเสียหายจากผู้ว่าจ้าง รวมถึงไปถึงการห้ามจ้างผู้รับงานทำงาน
ที่เป็นอันตราย เป็นต้น จึงขอให้ทั้งสองฝ่ายปฎิบัติตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้รับงานฯ
ให้ขอเอกสารเกี่ยวกับการรับงานจากผู้ว่าจ้างทุกครั้งเพื่อเป็นหลักฐานและเป็นประโยชน์ในการใช้สิทธิตามกฎหมายต่อไปได้
อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวต่อไปว่า กสร.ได้สั่งการให้พนักงานตรวจแรงงานเข้าไปชี้แจง ทำความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้รับงานไปทำที่บ้าน พ.ศ. ๒๕๕๓ ให้กับผู้ว่าจ้างและผู้รับงานฯแล้ว สำหรับอัตราโทษของผู้ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าว มีทั้งโทษปรับและโทษจำคุกตามฐานความผิดคือ ปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาท ถึงสองแสนบาท โทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งเดือนถึงหนึ่งปี ผู้ว่าจ้างหรือผู้รับงานฯ ที่มีข้อสงสัยหรือต้องการขอคำปรึกษาติดต่อได้ที่ กองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ ๐ ๒๒๔๕ ๗๑๗๐ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ ๑ – ๑๐ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองรแงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือที่โทรศัพท์สายด่วน ๑๕๔๖