เวทีสันติฯ เดินสายประชาสัมพันธ์โครงการสานเสวนา หรือ อึด ฮึด ฟัง ทั่วกรุงเทพฯ

0
288
image_pdfimage_printPrint

เนื่องด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยการสนับสนุนของโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) ได้จัดทำโครงการเวทีสันติประชาธิปไตย หรือ อึด ฮึด ฟัง ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2555 จนถึงปัจจุบัน เพื่อเป็นเวทีการสานเสวนาเพื่อเปลี่ยนแปลงความขัดแย้ง และสร้างความปรองดองในสังคมการเมือง โดยการเปิดพื้นที่การพูดคุย การฟังอย่างตั้งใจ และการพูดอย่างมีสติถึงสถานการณ์ความตึงเครียดทางการเมืองในปัจจุบัน อันเป็นผลมาจากความขัดแย้งที่ยืดเยื้อและสับสนในสังคมไทย ซึ่งคาดหวังว่าผู้มีส่วนร่วมทุกภาคส่วนนั้นจะสามารถเสนอจุดร่วมทางความคิดและภาพอนาคตของสังคมไทย ตลอดจนประเด็นทางการเมืองที่ควรค่าแก่การปฏิรูป อีกทั้งยังเป็นเวทีสำหรับผู้ที่เห็นต่างกัน ใช้เพื่อการถกแถลงและการสานสัมพันธ์ในระยะยาวต่อไป

เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการนี้อย่างแพร่หลาย ทางผู้จัดโครงการเวทีสันติฯ ได้จัดกิจกรรมออกเดินสายประชาสัมพันธ์โครงการเวทีสันติประชาธิปไตย หรือ อึด ฮึด ฟัง ขึ้นตามสถานที่สำคัญทั่วกรุงเทพฯ อาทิ อาคารเนชั่นทาวเวอร์ สาทรซิตี้ จามจุรีสแควร์ เมืองไทยภัทร ศูนย์หนังสือจุฬา มหาวิทยาลัยรามคำแหง และอื่นๆ ตลอดทั้งเดือนสิงหาคมนี้ โดยวัตถุประสงค์ต้องการให้บุคคลทั่วไปรับทราบถึงโครงการสานเสวนานี้ รวมถึงการขยายผลเวทีสันติฯ ในระดับภูมิภาค ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เช่น ปัตตานี นครศรีธรรมราช อุบลราชธานี ขอนแก่น พิษณุโลก และเชียงใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในการช่วยขับเคลื่อนให้สังคมไทยเป็นสังคมที่สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ แม้ว่าจะมีมุมมองและความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยใช้วิธีการสานเสวนาเพื่อให้เกิดการฟังอย่างลึกซึ้ง และการพูดอย่างเห็นอกเห็นใจ ไม่ตัดสินไว้ก่อน จนนำไปสู่ความเข้าใจและความร่วมมือกันได้ในที่สุด ทั้งนี้ โครงการเวทีสันติฯ ยังได้สรรสร้างอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์โครงการฯ อย่างทั่วถึง โดยใช้สื่อออนไลน์ที่สำคัญอย่างเฟซบุ๊ค (facebook) เป็นพื้นที่แบ่งปันกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งหมดของโครงการฯ และยังเป็นพื้นที่เปิดให้บุคคลทั่วไปที่สนใจโครงการนี้ได้เข้ามามีส่วนร่วมและขยายผลโครงการนี้ออกไปเพื่อให้เกิดความร่วมมือกันในระยะยาว

จากการประชุมเวทีสันติประชาธิปไตยระดับชาติ (อึด ฮึด ฟัง) มี 4 ประเด็นหลักในการขับเคลื่อนร่วมกัน ได้แก่ 1. ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. การศึกษาของพลเมือง 3. การมีส่วนร่วมถกแถลงรัฐธรรมนูญ และ 4. การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น ทั้งนี้ในแต่ละภูมิภาคจะมีประเด็นสำคัญประจำท้องถิ่นด้วย หลังจากนั้นแต่ละภูมิภาคจะนำประเด็นต่างๆ นี้ไปพูดคุยขยายผลและร่วมมือกันต่อไป

 

This site uses Akismet to reduce spam. Learn how your comment data is processed.