เปิดมิติ 3 เส้นทางในโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว

0
743
image_pdfimage_printPrint

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการพัฒนาชุมชน จึงได้เดินหน้า “โครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว : OTOP Village” มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2549 เพื่อเชื่อมโยงสินค้า OTOP ที่สะท้อนอัตลักษณ์ ศิลปวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของท้องถิ่นนั้นๆ เข้ากับแหล่งท่องเที่ยวและบริการ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งของชุมชน และจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องพบว่าโครงการดังกล่าวกระตุ้นให้ชุมชน ตื่นตัวและรวมพลังในการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ พัฒนาทรัพยากรของชุมชนให้มีคุณค่า สร้างงานสร้างรายได้ให้ชุมชน สามารถจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้าไปศึกษาเรียนรู้และท่องเที่ยวในชุมชน ทั้งยังกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในระดับฐานรากอย่างแท้จริงและยั่งยืน
นายนิสิต จันทร์สมวงศ์ อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน กล่าวว่า ในปี 2561 กรมการพัฒนาชุมชน
ได้จัดทำ “โครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว : OTOP Village 8 เส้นทาง” ในพื้นที่ 31 จังหวัด จำนวน 125 หมู่บ้าน ดังนี้ เส้นทางที่ 1 อารยธรรมล้านนา 4 จังหวัด (เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง และพะเยา) เส้นทางที่ 2 ฝั่งทะเลตะวันออก 4 จังหวัด (จันทบุรี ตราด ชลบุรี และระยอง) เส้นทางที่ 3 อารยธรรมอีสานใต้ 4 จังหวัด (นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี) เส้นทางที่ 4 ฝั่งทะเลตะวันตก 3 จังหวัด (เพชรบุรี ชุมพร และระนอง) เส้นทางที่ 5 วิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนกลาง 4 จังหวัด (อยุธยา นนทบุรี อ่างทอง และสิงห์บุรี) เส้นทางที่ 6 อันดามัน 4 จังหวัด (ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล) เส้นทางที่ 7 วิถีชีวิตริมแม่น้ำโขง 7 จังหวัด (เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อุบลราชธานี อำนาจเจริญ และมุกดาหาร) และเส้นทางที่ 8 มรดกโลกด้านวัฒนธรรม 2 จังหวัด (ตาก และกำแพงเพชร)
“โครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวถือเป็นมิติใหม่ท่องเที่ยวไทยที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสกับเสน่ห์ของชุมชน ทั้งในด้านของสถานที่ อาหาร วิถีชีวิต ผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมทั้งการร่วมทำกิจกรรมกับคนในชุมชน และยังเป็นแรงหนุนสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการไทยนิยมยั่งยืนของรัฐบาลที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ สนับสนุนให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้ประชาชนได้อย่างยั่งยืน” นายนิสิต กล่าว
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ กรมการพัฒนาชุมชน ได้จัดนิทรรศการ “หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว : OTOP Village 8 เส้นทาง” เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิต ภูมิปัญญา อัตลักษณ์พื้นถิ่น พร้อมด้วยการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของแต่ละหมู่บ้าน โดยได้มีการจำลองรูปแบบหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว 8 หมู่บ้านที่มีเสน่ห์แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละหมู่บ้านหรือชุมชนต่างก็มีการเรียงร้อยเรื่องราว ที่น่าสนใจและดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวได้ไปเยี่ยมเยือน
เราได้มีโอกาสพูดคุยกับตัวแทนจากชุมชนคนเล่าเรื่องอย่าง “เย้ง – นายยิ่งศักดิ์ จั้งจิรกาญจณ์กูล” อายุ 35 ปี ชาวไทยภูเขาเผ่าม้งคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสำนึกรักบ้านเกิด ตัวแทนจากบ้านชุมนุมไทร (ป่าคา) อำเภอ คลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร หนึ่งในหมู่บ้านเส้นทางมรดกโลกด้านวัฒนธรรม เล่าให้เราฟังว่า ชาวบ้านชุมนุมไทร (ป่าคา)ประกอบอาชีพเกษตรเป็นหลัก โดยตัวเขาจบการศึกษาด้านการเกษตรจากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช แต่ด้วยความที่ไม่อยากเข้าไปทำงานในเมือง ก็เลยนำความรู้ที่เล่าเรียนมาพัฒนาการเกษตรที่บ้านเกิดของตนเอง ด้วยการให้คำแนะนำชาวบ้านในการปลูกพืชแบบไม่ใช้สารเคมี หรือเกษตรอินทรีย์ โดยผลิตภัณฑ์ OTOP ที่โดดเด่นและเป็นไฮไลต์ก็คือพืชผักปลอดสารพิษต่างๆ อาทิ ยอดซาโยเต้ (บ้างก็เรียกว่ายอดฟักแม้วหรือยอดมะระหวาน) กะหล่ำปลี สตรอเบอรี่ และอโวคาโด ซึ่งจะให้ผลผลิตผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล
“บ้านชุมนุมไทร (ป่าคา) อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร มีอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี สามารถปลูกพืชผักเมืองหนาวได้ทุกชนิด พูดได้เลยว่าอากาศดีไม่แพ้จังหวัดเชียงใหม่ สถานที่ท่องเที่ยวที่โดดเด่นก็คือ น้ำตกเต่าดำซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็นราชินีแห่งน้ำตก ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติคลองวังเจ้า เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ มีน้ำไหลตลอดทั้งปี นักท่องเที่ยวจะได้พบกับวิถีชีวิตของชุมชน เช่น การทอผ้า ปักผ้า ตีมีด เป่าแคน และอบสมุนไพร ซึ่งการที่หมู่บ้านของเราได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว หรือ OTOP Village 8 เส้นทางก็จะช่วยโปรโมทหมู่บ้านของเราให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ขอขอบคุณกรมการพัฒนาชุมชนที่เห็นความสำคัญของหมู่บ้านเล็กๆ แต่มีวิถีชุมชนและวัฒนธรรมประเพณีที่เป็นอัตลักษณ์ในแบบของพวกเราครับ” เย้ง กล่าวขอบคุณ
ตามด้วย “นายประชัน ญี่นาง” อายุ 54 ปี ผู้ใหญ่บ้าน บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าเรื่องระดับตำนานให้ฟังว่า บ้านต้นเปาเป็นชุมชนกึ่งเมือง เพราะอยู่ในเขตเทศบาลเมือง ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ประมาณ 8 กิโลเมตร ชาวชุมชนบ้านต้นเปา เดิมทีเรียกตัวเองว่าชาวไทขืนมีบรรพบุรุษอพยพมาจากสิบสองปันนาผ่านมาทางเชียงรุ่ง เชียงตุง พันนาภูเลา เชียงแสน (เชียงราย) อพยพเรื่อยมาตั้งถิ่นฐานที่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งชาวไทขืนได้นำภูมิปัญญาหัตถกรรมการทำกระดาษสาติดตัวมาด้วย โดยอดีตใช้ในงานประกอบงานบุญประจำปี งานพิธีต่างๆ นำมาใช้ในครัวเรือน เช่น ยันต์ ไส้เทียน ตุง โคม พัด และร่มที่มีอัตลักษณ์โดดเด่นทำให้เป็นนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยว
“รู้สึกภูมิใจเป็นอย่างมากที่บ้านต้นเปา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในเส้นทางท่องเที่ยวสายอารยธรรมล้านนา ในโครงการ OTOP Village 8 เส้นทาง ในพื้นที่ 31 จังหวัด จำนวน 125 หมู่บ้าน โดยเส้นทางท่องเที่ยว ถ้าเป็นในด้านจิตใจก็ต้องไปที่วัดต้นเปาซึ่งก่อสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 2399 ชมพระอุโบสถที่สวยงาม สักการะศาลเจ้าพ่อไม้เปา ด้านผลิตภัณฑ์ต้องมาชมขั้นตอนและวิธีการทำกระดาษสาแบบพื้นบ้านที่สืบสานมาจากบรรพบุรุษ และสร้างสรรค์งานกระดาษสาหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกระดาษสาแผ่นหนา กระดาษสาสี การทำลวดลายลงบนกระดาษสาด้วยเทคนิคบาติก เทคนิคสีน้ำมัน และเทคนิคพ่นน้ำ รวมทั้งเทคนิคการปั๊มนูน ผลิตภัณฑ์จากกระดาษสาที่เป็นเอกลักษณ์ของบ้านต้นเปาคือ กล่องกระดาษ ถุงกระดาษ สมุดโน้ต กรอบรูป ล่าสุดก็คือนำกระดาษสาย้อมสีลายน้ำไหลมาทาเคลือบด้วยน้ำยางพารา แล้วเคลือบด้วยแลคเกอร์กันน้ำแล้วนำมาเย็บเป็นกระเป๋า ด้านอาหารก็ต้องอาหารพื้นเมือง
น้ำสมุนไพร น้ำพริกตาแดง แคปหมู และพืชสมุนไพรต่างๆ ตามแบบวิถีชีวิตชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งพวกเราชาวบ้านต้นเปายินดีต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่านครับ” ผู้ใหญ่ประชัน กล่าวเชิญชวน
ส่งท้ายกันด้วย “นายใหม่ โคตะมา” อายุ 40 ปี ตัวแทนจากบ้านแก้งเรือง อำเภอนาจะหลวย จังหวัดอุบลราชธานี บอกกับเราว่า ชาวบ้านแก้งเรืองส่วนใหญ่ประกอบอาชีพด้านเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ และค้าขาย ผลผลิตทางการเกษตรบ้านแก้งเรืองที่ขึ้นชื่อก็คือ น้ำสมุนไพรหมากจอง หรือน้ำสำรอง นอกจากนี้ยังหมากจองยังสามารถนำมาปรุงเป็นอาหาร เช่น วุ้นหมากจอง ลาบหมากจอง รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวกาย ในขณะที่ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม โดยเฉพาะฝีมือในการจักสานไม้ไผ่ที่สืบทอดกันมาได้มีการพัฒนารูปแบบต่อๆ กันมาจนกลายเป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น เช่น กระติ๊บข้าว หวดนึ่งข้าวเหนียว กระด้ง พัด เสื่อ รวมถึงผลิตภัณฑ์จากกะลา เช่น กระบวย และล่าสุดได้ทำเป็นแก้วไวน์เพื่อเพิ่มความหลากหลายของผลิตภัณฑ์
“บ้านแก้งเรืองอยู่เกือบสุดทิศตะวันออกเฉียงใต้ ห่างจากตัวเมืองอุบลราชธานีกว่า 100 กิโลเมตร แต่ก็เต็มไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลายและสวยงาม ทั้งป่าไม้ น้ำตก แหล่งน้ำขนาดน้อยใหญ่ท่ามกลางภูมิทัศน์ที่งดงามโดยเฉพาะสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องยกให้เป็นพระเอกก็คือ น้ำตกห้วยหลวง ซึ่งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูจองนายอย ที่มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมธรรมชาติที่สวยงามแบบไม่ขาดสาย แก่งกะเลา แก่งศิลาทิพย์ ส่วนในหมู่บ้านมีวัดป่าห้วยหลวงเจริญธรรมซึ่งมีสวนสมุนไพร มีต้นหมากจองที่เราอนุรักษ์ไว้ให้ลูกหลาน รวมถึงวัดบ้านแก้งเรืองซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวบ้าน ทุกๆ วันพระ คนเฒ่าคนแก่และเด็กจะแต่งชุดขาวไปทำบุญถือศีล เรียกได้ว่ามาเที่ยวที่นี่จะได้สัมผัสทั้งธรรมชาติ ศาสนา และวิถีชุมชนครบถ้วนจริงๆ มักม่วนมักแซบมาเที่ยวอุบลราชธานีกันเด้อ” ใหม่ ตัวแทนบ้านแก้งเรือง กล่าวทิ้งท้าย
มาร่วมเช็คอิน! หมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยว 8 เส้นทางทั่วประเทศ สัมผัสเสน่ห์ วิถีชีวิตชุมชน ชม ชิม ช้อป…เที่ยวถึงถิ่น กินอยู่แบบชาวบ้าน ประทับใจกับเรื่องราวดีๆ ความหลากหลายของผลิตภัณฑ์ OTOP ของดีที่มีคุณค่าสำหรับซื้อเป็นของฝากหรือของที่ระลึก เมื่อได้ไปเยือน “OTOP Village” ไปแล้วจะรัก นักท่องเที่ยวได้ความสุขกลับไป ชุมชนพึ่งพาตนเองได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืน.