อยุธยา “แต้มสีกรุงเก่า” ให้สถานีรถไฟ ขานรับนโยบาย “โครงการสีสันสดใสเมืองไทยน่าเที่ยว (แต่งสีประเทศไทย)”

0
295
image_pdfimage_printPrint

สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในฐานะเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจหลักในการดูแลพัฒนาสถานที่ท่องเที่ยวของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้ได้มาตรฐาน และปรับปรุงให้สวยงาม  ได้จัดทำโครงการ “แต้มสีกรุงเก่า” ขึ้น เพื่อขานรับนโยบาย “โครงการสีสันสดใสเมืองไทยน่าเที่ยว (แต่งสีประเทศไทย)” ปี 2555 ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

Untitled

นายวิทยา ผิวผ่อง ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า “เนื่องจากปัจจุบันแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่งในประเทศไทยที่มีความสำคัญและเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว ยังขาดการพัฒนาปรับปรุงให้เกิดความสวยงาม ความสะอาด และความเป็นระเบียบ ทำให้ขาดแรงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเที่ยว กรมการท่องเที่ยวจึงได้ริเริ่มโครงการ “สีสันสดใสเมืองไทยน่าเที่ยว (แต่งสีประเทศไทย)” โดยมีแนวทางในการดำเนินการ คือ การตกแต่งแหล่งท่องเที่ยวด้วยการทำความสะอาด ทาสีอาคาร สิ่งปลูกสร้าง สถานที่สำคัญ ให้มีสีสันไปในแนวทางเดียวกัน เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามามากยิ่งขึ้น โดยการใช้สีที่สอดคล้องกับพื้นที่ วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ตามนโยบายของรัฐบาลที่กำหนดให้ ปี พ.ศ.2555 เป็นมหัศจรรย์เมืองไทย โดยมีพื้นที่ในการดำเนินการทั้งสิ้น 25 จังหวัด ซึ่งจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นหนึ่งในพื้นที่การดำเนินการ

จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยสำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬา จึงได้ดำเนินกิจกรรม “แต้มสีกรุงเก่า” ภายใต้โครงการ สีสันสดใสเมืองไทยน่าเที่ยว (แต่งสีประเทศไทย) จ.พระนครศรีอยุธยา ขึ้น โดยเลือกสถานีรถไฟ 2 แห่ง คือ สถานีรถไฟอยุธยา และ สถานีรถไฟบ้านม้า ซึ่งเปรียบเสมือนประตูสู่การท่องเที่ยวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยเฉพาะกับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ที่นิยมใช้รถไฟในการเดินทางท่องเที่ยว และเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวทางรถไฟของจังหวัดฯ อีกด้วย ในการปรับภูมิทัศน์ให้สดใส เพิ่มเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเที่ยวมากยิ่งขึ้น

ในส่วนของการปรับปรุงและตกแต่งสถานีรถไฟทั้ง 2 แห่งนั้น จังหวัดฯ ได้เลือกใช้สีและวัสดุที่สอดคล้องกับพื้นที่ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดย ใช้วัสดุตกแต่งที่เป็นวัสดุท้องถิ่น อาทิ ลวดลายผ้าขาวม้า  ไม้ กระถางดินเผา  และปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นและสวยงามกับสถานี อาทิ ต้นเหลืองปรีดียาธร หรือต้นคูณ ต้นปาล์มมงกุฎ ต้นหมากนวล ต้นเขียวหมื่นปี ต้นไทรยอดทอง ต้นช้องนาง ต้นลีลาวดี ต้นเล็บครุฑหนู ต้นแก้วแคระ ต้นยี่โถ ต้นหญ้านวลน้อย ต้นเฟื่องฟ้า ต้นหูกระจง ซึ่งเป็นไม้ต้นและไม้ดอกของไทยที่มีความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของไทย เพราะจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นเมืองหลวงเก่าซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน

ในการปรับปรุงตกแต่งภูมิทัศน์ในครั้งนี้ ทางจังหวัดฯ มีความคาดหวังว่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้มากยิ่งขึ้น และยังคงมีโครงการในการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวแหล่งอื่นต่อไป”