องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เผยผลวิจัยชี้เด็กหญิงควรได้รับโอกาสเล่าเรียนเท่าเทียมเด็กชาย เพื่อลดปัญหาความยากจน ความรุนแรง แต่งงานก่อนวัย และการค้ามนุษย์

0
345
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพฯ — 11 ตุลาคม 2555 — องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยผลงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับสถานการณ์การศึกษาของเยาวชนสตรีในประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ ‘เด็กผู้หญิงกับการศึกษา’ ชี้ชัดเด็กหญิงควรได้รับโอกาสทางการศึกษาให้เท่าเทียมกับเด็กชาย เพื่อลดปัญหาความยากจน ความรุนแรง และการค้ามนุษย์ เดินหน้ารณรงค์ส่งเสริมสิทธิและบทบาทของเด็กหญิงและเยาวชนสตรี พร้อมจัดกิจกรรมรณรงค์โครงการ ‘เพราะฉันคือเด็กผู้หญิง’ ฉลอง วันสิทธิเด็กหญิงสากล ครั้งแรกในโลก หวังกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงการส่งเสริมให้เด็กหญิงทุกคนมีโอกาสในการเรียนอย่างเท่าเทียมกัน

 

นางมหา คิวบาร์รูเบีย ผู้อำนวยการองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย เปิดเผยว่า สังคมโลกยังไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจังต่อความทุกข์ยากและปัญหาต่างๆ ที่เด็กหญิงในชนบทเผชิญอยู่ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา จากสถิติ 1 ใน 3 ของเด็กหญิงทั่วโลกขาดโอกาสทางการศึกษาเนื่องจากยากจน ความรุนแรง การเลือกปฏิบัติ แต่งงานก่อนวัยอันควร และการคลุมถุงชน ทำให้มีความเสี่ยงสูงที่จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อบังคับขายบริการทางเพศและบังคับใช้แรงงาน ด้วยเหตุนี้ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ จึงได้ประกาศให้วันที่ 11 ตุลาคมของทุกปี เป็น วันสิทธิเด็กหญิงสากล เพื่อให้ทุกคนให้ความสนใจในสถานการณ์ของเด็กหญิงทั่วโลก และเรียกร้องให้ทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ องค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ ภาคเอกชน และสาธารณชน เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อส่งเสริมให้เด็กหญิงทุกคนมีสิทธิ์ได้รับการศึกษาและการพัฒนาอย่างเท่าเทียม

“นี่คือที่มาของโครงการ Because I am a Girl หรือ เพราะฉันคือเด็กผู้หญิง ที่รณรงค์เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศมาแล้วกว่า 5 ปี โดยองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนลในกว่า 50 ประเทศทั่วโลก มีจุดมุ่งหมายเพื่อส่งเสริมให้เด็กสาวและผู้หญิงเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างแท้จริง และได้รับการสนับสนุนให้มีบทบาทในสังคมเท่าเทียมกับเพศชาย โดยในปีนี้จะเน้นการรณรงค์ในเรื่องการเข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานของเด็กหญิงทุกคนเท่าเทียมกับเด็กชาย”

นางคิวบาร์รูเบีย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีเด็กสาวจำนวนมากตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์และแรงงานในทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย เนื่องจากสภาพสังคมที่ยังคงมีการแบ่งแยกบทบาทระหว่างทั้งสองเพศ และจากรายงานสถานการณ์การศึกษาของเยาวชนสตรีในประเทศไทยภายใต้หัวข้อ ‘เด็กผู้หญิงกับการศึกษา’ โดยองค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย พบว่านโยบายภาครัฐที่เปิดโอกาสให้เยาวชนทั้งชายหญิงเข้าถึงการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมนั้น ในทางปฏิบัติพบว่ามีเด็กหญิงจำนวนไม่น้อยที่ยังคงประสบปัญหาไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพและไม่เท่าเทียม

 

งานวิจัยล่าสุดนี้ได้สำรวจโรงเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายจำนวน 4 แห่งในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย โดยสังเกตการเรียนการสอน สัมภาษณ์เชิงลึกครูผู้สอนและผู้อำนวยการโรงเรียน และการทำกิจกรรมเขียนและวาดภาพของนักเรียน ตลอดจนสัมภาษณ์เชิงลึกนักเรียนหญิงและผู้ปกครองในอำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ทราบและเข้าใจทัศนคติของบุคคลกลุ่มดังกล่าวในเรื่องการศึกษา ความเสมอภาคทางเพศ และประเด็นปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในโรงเรียนและชุมชน พบว่ายังมีความเหลื่อมล้ำอยู่มากในเรื่องการศึกษาในเมืองและชนบท ซึ่งมีผลกระทบต่อเด็กหญิงทางภาคเหนือ โดยเฉพาะเด็กหญิงไร้สัญชาติที่จะนำไปสู่ปัญหาต่างๆ ทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์ ปัญหายาเสพติดและปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งจำนวนของเด็กหญิงไร้สัญชาติที่ได้รับผลกระทบนี้มีค่อนข้างสูง

 

ผลวิจัยระบุ 4 ประเด็นที่น่าสนใจ คือ 1. ความยากจนเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนต่อในระดับอุดมศึกษาได้ ซึ่งเป็นปัญหาที่เด็กไร้รัฐต้องเผชิญและหนักกว่านักเรียนกลุ่มอื่น เนื่องจากไม่มีนโยบายการศึกษาที่นอกเหนือจากเรียนฟรี 12 ปี และแม้ว่าเด็กกลุ่มนี้จะมีวุฒิการศึกษาและประกาศนียบัตรรับรองจากสถาบันการศึกษา ก็ยังประสบปัญหาในการหางานทำเนื่องจากไม่มีบัตรประชาชน 2. จำนวนเด็กไร้รัฐที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบท และจำนวนเด็กต่างด้าวก็มีแนวโน้มสูงขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะโรงเรียนในชุมชนเมือง ซึ่งอุปสรรคในการเข้าถึงการศึกษาของเด็กกลุ่มนี้เป็นประเด็นที่เกี่ยวพันระหว่างปัญหาความยากจน การเป็นบุคคลไร้รัฐ ไร้สัญชาติ หรือการเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ 3. ห้องเรียนมักเป็นพื้นที่ของเด็กชายมากกว่าเนื่องจากการศึกษาครั้งนี้พบว่าเด็กชายกล้าตอบคำถามของครูมากกว่า เด็กหญิงไม่ได้มีส่วนร่วมในชั้นเรียนมากนัก และ 4. พบว่ามีนักเรียนตั้งครรภ์ระหว่างเรียนในทุกโรงเรียน ทั้งในพื้นที่ชนบทและชุมชนเมืองที่ได้สำรวจ ครูทุกโรงเรียนเห็นตรงกันว่าเด็กหญิงเหล่านี้ควรได้รับโอกาสให้กลับมาเรียนได้หลังคลอดบุตรแล้ว แต่ก็กังวลว่าอาจเป็นตัวอย่างไม่ดีกับเด็กนักเรียนคนอื่นได้

 

“ดังนั้นทุกภาคส่วนจึงควรตระหนักถึงปัญหาที่เยาวชนหญิงของเรากำลังเผชิญอยู่ และร่วมกันแก้ไข ทั้งในระดับนโยบายของภาครัฐ หลักสูตรการเรียนการสอน การปฏิบัติของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด ครู อาจารย์ ผู้ปกครอง หรือแม้แต่คนรอบนอกในสังคมอย่างพวกเรา ซึ่งในฐานะที่องค์การแพลนฯ ทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้เห็นถึงความตื่นตัวมากขึ้นของทั้งภาครัฐและเอกชนในปัญหาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี” นางคิวบาร์รูเบีย กล่าว

 

 

 

ล่าสุด เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเสริมความรู้ให้กับเยาวชน องค์การแพลนอินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานประเทศไทย ได้มีการลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับ บริษัท อินเทล ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อนำโครงการ Intel® Easy Steps ของอินเทลเข้ามาริเริ่มให้ความรู้ในกลุ่มเด็กผู้หญิงที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับการใช้งานคอมพิวเตอร์ ซึ่งมุ่งเน้นให้เด็กเหล่านี้ได้รับประสบการณ์และประโยชน์สูงสุดจากการได้ลงมือใช้งานจริง ตลอดจนสามารถนำความรู้และทักษะดังกล่าวมาประยุกต์ใช้ในการประกอบอาชีพของตนต่อไปได้ในอนาคต

 

ทั้งนี้ องค์การแพลนฯ จะจัดงาน รณรงค์ส่งเสริมสิทธิและบทบาทของเด็กหญิงและเยาวชนสตรี ระหว่างวันพฤหัสบดีที่ 11 ตุลาคมนี้ ณ โรงแรมเซ็นทารา แอท เซ็นทรัลเวิลด์ ชั้น 22 ตั้งแต่เวลา 13.00น.เป็นต้นไป โดยมีการนำเสนอผลวิจัยนี้ต่อนางนลินี ทวีสิน รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานในพิธีและในวันศุกร์ที่ 12 ถึงวันอาทิตย์ที่ 14 ตุลาคมนี้ ณ ลานอีเด็น ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวิลด์ พลาซ่า  มีการจัดนิทรรศการภาพถ่าย ภายใต้หัวข้อ ‘Empower Women on Education’ นำเสนอมุมมองทางด้านการศึกษาของเด็กสาวในชนบทผ่านภาพถ่าย พร้อมกับบทสัมภาษณ์จากผู้หญิงที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายสาขาอาชีพเนื่องจากรากฐานที่ดีจากการได้รับการศึกษา เพื่อสื่อสารให้สังคมได้ตระหนักถึงการช่วยเหลือให้เด็กสาวทุกคนได้รับสิทธิและโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน พร้อมผลงานสื่อมัลติมีเดียจากนักศึกษาธรรมศาสตร์เรื่องเด็กหญิงไร้สัญชาติกับชีวิตที่ต้องเผชิญ ปิดท้ายด้วยมินิคอนเสิร์ตจากศิลปินชื่อดังมากมาย

 

“เราคาดหวังว่าการจัดงานรณรงค์ส่งเสริมสิทธิและบทบาทของเด็กหญิงและเยาวชนสตรีในครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นให้คนในสังคมตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้เด็กหญิงทุกคนสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานในเรื่องการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมกันอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นผลผลิตที่ดีของประเทศชาติและของโลกต่อไป” นางคิวบาร์รูเบีย กล่าวทิ้งท้าย