สวก. ปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันสำเร็จ ให้ผลผลิตสูง 5 ตันต่อไร่ และปลูกได้ทุกภาค พร้อมเปิดจำหน่ายสู่มือเกษตรกรทันที

0
197
image_pdfimage_printPrint

 

เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2556 คณะผู้บริหารสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. จัดแถลงข่าว “การผลิตและการจัดจำหน่ายต้นกล้าปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร พร้อมนำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมแปลงอนุบาลต้นกล้าปาล์ม ณ  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม  พร้อมเปิดจำหน่ายต้นกล้าสู่มือเกษตรกรเป็นวันแรก

         ภาพต้นกล้าปาล์มน้ำมัน (1)

ดร. พีรเดช ทองอำไพ ผู้อำนวยการ สวก. เปิดเผยว่า ปาล์มน้ำมันเป็นพืชพลังงานที่มีความต้องการเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มมากเป็นอันดับ 3 รองจากอินโดนีเซียและมาเลเซีย ปัจจุบันมีเกษตรกรไทยปลูกปาล์มน้ำมันมากกว่า 1.28 แสนครัวเรือน และมีพื้นที่เพาะปลูกประมาณ 4.28 ล้านไร่ ที่ผ่านมาประเทศเรายังคงประสบปัญหาในเรื่องของพันธุ์ปาล์มน้ำมันอยู่มาก ทั้งปัญหาพันธุ์ปาล์มที่ให้ผลผลิตต่ำและปัญหาพื้นที่ในการปลูก เนื่องจากธรรมชาติของปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ต้องการน้ำค่อนข้างสูง การปลูกปาล์มในพื้นที่ภาคเหนือและภาคอีสานจึงมักจะประสบปัญหาภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ผลผลิตต่ำ ส่วนภาคกลางก็สามารถปลูกได้ในพื้นที่บางส่วน และปัญหาอื่นๆ อาทิ ราคาผลปาล์มดิบตกต่ำ พันธุ์ปาล์มน้ำมันคุณภาพต่ำ เป็นต้น

 

“สวก. จึงได้ระดมสมองจากนักวิชาการเพื่อทำการวิจัยร่วมกันแบบบูรณาการ เพื่อปรับปรุงสายพันธุ์ปาล์มน้ำมันให้ได้ผลผลิตที่สูงขึ้น โดยที่เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง และสามารถปลูกได้ผลผลิตดีในทุกภาคของประเทศไทย และริเริ่ม “โครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดด” ซึ่งเป็นการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อแทนการใช้เมล็ด โดยสวก.ได้ให้ทุนสนับสนุนแก่ 5 หน่วยงาน ได้แก่ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ สวทช. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรมวิชาการเกษตร และ หจก.โกลด์เด้นเทเนอร่า จังหวัดกระบี่ หลังจากริเริ่มจนตอนนี้มาเป็นระยะเวลา 3  ปี ซึ่งในปัจจุบันเรามีทีมนักวิจัยได้ประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ต้นปาล์มคุณภาพดี และได้ต่อยอดไปสู่ โครงการต้นแบบในการขยายผลปาล์มน้ำมันพันธุ์ดีไปสู่เกษตรกร ได้ในขณะนี้”

 

“นอกจากนี้ ภายในงานแถลงข่าว สวก. ยังมีการจัดเวทีให้ทีมนักวิจัยได้กล่าวสรุปโครงการฯ โดยได้รับเกียรติจาก นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานเปิดงาน และกล่าวถึงนโยบายเรื่องปาล์มน้ำมัน บทบาทความสำคัญของงานวิจัยด้านการเกษตรที่มีผลต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย พร้อมทั้ง เปิดจำหน่ายต้นกล้าปาล์มน้ำมัน ให้กับผู้สนใจและเกษตรกรที่สนใจสั่งซื้อต้นกล้าปาล์มน้ำมัน ที่ได้ติดต่อสอบถามเข้ามายัง สวก. และ มก.เป็นจำนวนมาก  โครงการปรับปรุงพันธุ์ปาล์มน้ำมันแบบก้าวกระโดด จึงไม่เพียงแต่จะสร้างความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้แก่เกษตรกรไทย และสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเท่านั้น หากแต่ยังเป็นประตูบานใหม่ที่จะให้ประเทศไทยของเราสามารถก้าวไปยืนอยู่แถวหน้าในวงการการผลิตอุตสาหกรรมการผลิตไบโอดีเซลด้วยการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน” ดร. พีรเดช กล่าว

 

 

 

 

 

ดร.สมวงษ์ ตระกูลรุ่ง สถาบันจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ หัวหน้าโครงการ ต้นแบบในการขยายผลปาล์มน้ำมันไปสู่เกษตรกร  กล่าวว่า หจก.โกลด์เด้นเทเนอร่า จังหวัดกระบี่ เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาคู่ผสมที่เหมาะสม โดยจัดหาพ่อแม่พันธุ์ปาล์มที่ให้ผลผลิตสูง มาเพาะเนื้อเยื่อขยายพันธุ์ปาล์มมาปลูกทดสอบในเมืองไทย ที่สามารถปรับตัวกับสภาพแวดล้อมภูมิอากาศในบ้านเราและยังให้ผลผลิตสูง เพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาพ่อแม่พันธุ์จนอย่างละ 4 ต้น มาผสมกันจนได้จำนวนคู่ผสม 16 คู่ผสม โดยผลสุกนำมาเพาะให้เกิดเมล็ดงอก เพื่อทำเป็นต้นกล้า จากนั้นจึงนำไปปลูกทดสอบตามภาคต่างๆ ซึ่ง 16 คู่ผสมนี้มาจากแม่พันธุ์โดร่า (DURA) ที่คุณสมบัติเด่นคือมีกะลาหนา ให้ผลผลิตสูง เปอร์เซ็นต์น้ำมันต่ำ และพ่อพันธุ์ฟีซิเฟอร่า (Fisifera) ซึ่งให้เปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง ไม่มีกะลา ให้ผลผลิตต่ำ มาผสมกันกลายเป็นลูกผสมเทโนร่า (Tenera) ซึ่งเมื่อผสมออกมาแล้วผลที่ได้ คือกะลาบาง ให้ผลผลิตสูง และเปอร์เซ็นต์น้ำมันสูง

 

“เราใช้เทคโนโลยีในการผลิตพันธุ์ปาล์มน้ำมัน โดยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อและ DNA ตรวจความบริสุทธิ์ของพันธุ์ปาล์มน้ำมัน ที่ตรวจสอบความผิดปรกติของการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ ซึ่งจะให้ความสม่ำเสมอเท่ากันกว่าการใช้เมล็ด ช่วยในการเพิ่มจำนวนต้นปาล์มที่จะใช้เป็นพ่อแม่พันธุ์ทั้งต้นที่เป็นดูร่าและฟิซิเฟอร่า ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการสร้างเมล็ดลูกผสมถูกลง ปัจจุบันประสบความสำเร็จ เพราะสามารถย่นระยะเวลาให้สั้นลง และได้พันธุ์ปาล์มที่ดี มีปริมาณของน้ำมันที่สูงมากขึ้น และการทดลองปลูก ณ สถานีทดลองเกษตรจังหวัดขอนแก่น ศรีสะเกษ และหนองคายได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ โดยปาล์มน้ำมันลูกผสมพันธุ์ดี ARDA จะให้ผลผลิตที่ไม่ต่ำกว่า 5 ตัน/ไร่/ปี ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเมื่ออายุ 8 ปี โดยมีอัตราการให้น้ำมันต่อทะลายสูง เฉลี่ย 25-26 % ผลผลิตจำนวนทะลายปาล์มสด 15-20 ทะลาย/ต้น/ปี เนื้อหนา กะลาบาง ลักษณะลำต้นสูงปานกลาง ความสูงเฉลี่ย 40-50 ซม./ปี ซึ่งสะดวกแก่การเก็บเกี่ยวและดูแลรักษาสามารถปรับตัวได้ดีและให้ผลผลิตสม่ำเสมอตลอดปีในทุกพื้นที่ ในทุกสภาพอากาศ  ที่สำคัญสามารถทนแล้งนาน 90 วัน”

 

ขณะเดียวกัน ก็จะได้ต้นเมล็ดลูกผสมที่เป็นเทอเนร่าที่เป็นสายพันธุ์ดีเป็นจำนวนมากที่สามารถ 1.เพิ่มเปอร์เซ็นต์น้ำมันให้สูงขึ้น 2.เพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ 3.เพิ่มน้ำหนักและจำนวนทลายของผลปาล์ม 4.ได้ปรับปรุงต้นให้เตี้ยลง 5.สามารถทนทานต่อความแห้งแล้ง และ 6.ต้านทานโรค และสามารถปลูกได้ครบในทุกพื้นที่ของประเทศ เนื่องจากปาล์มซึ่งเป็นพืชพลังงานทดแทนที่ให้ปริมาณน้ำมันที่สูง สามารถนำไปผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลแทนน้ำมันดีเซลได้ ดังนั้นผู้ปลูกและผู้ประกอบการน้ำมันให้ความสนใจโครงการนี้อย่างมาก เพราะสามารถรองรับวิกฤติการการใช้พลังงานที่มีแนวโน้มว่าจะเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต” ดร.สมวงษ์ กล่าวสรุป

 

          เป็นอีกก้าวแห่งความสำเร็จของนักวิจัยไทย โดยผ่านการสนับสนุนของ สวก.ที่ได้เร่งสนับสนุนและต่อยอดงานวิจัยชิ้นนี้ ได้ลงสู่ภาคการผลิตและเกษตรกรไทย เพื่อช่วยยกระดับประเทศให้มีการพัฒนาด้านการเกษตรที่ยั่งยืน ผู้สนใจขอทราบรายละเอียดของโครงการได้ที่ สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) เลขที่ 2003/61 ถนนพหลโยธิน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900  หรือโทร.ติดต่อที่หมายเลข 02-579-9738 ต่อ 3306

###