วสท.จัดเสวนา “เจาะลึกประเทศไทย กับ ภัยพิบัติ” นักวิชาการเตือนคนไทยรับมือปี 59

0
592
image_pdfimage_printPrint

Medium

ประเทศไทยพานพบภัยพิบัติรุนแรงหลายครั้ง ส่งผลกระทบต่อสังคม ธุรกิจอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว คุณภาพชีวิตและภาพลักษณ์ของประเทศเป็นมูลค่ามหาศาล วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ซึ่งเป็นองค์กรเสาหลักด้านวิศวกรรมของประเทศไทย ได้เปิดเวทีเสวนาเรื่อง “ประเทศไทย กับ ภัยพิบัติ ปี 2559…คนไทยเตรียมพร้อมหรือยัง?” โดย 6 ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรชั้นนำของประทศไทยเพื่อวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นและแนวทางแก้ปัญหา”น้ำ”แล้ง-ท่วม รวมถึงเตรียมรับมือแผ่นดินไหว โดยมี ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เป็นประธานเปิดงานในครั้งนี้ ณ คอนเวนชั่นฮอล โรงแรมเซนทารา แกรนด์ แอทเซ็นทรัลเวิร์ล

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ (Prof. Dr. Suchatvee Suwansawat) นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) และประธานในพิธีเปิดเสวนากล่าวว่า “ในวาระครบรอบ 72 ปีของวสท. ได้จัดงานนิทรรศการและเสวนา “เจาะลึกประเทศไทย กับภัยพิบัติ ปี 2559…คนไทยเตรียมพร้อมหรือยัง?” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักแก่ประชาชนในการลดความเสี่ยงและความรุนแรงจากภัยพิบัติในปี 2559 และส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการเตรียมพร้อมรับมือ และจัดการภัยพิบัติอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งเปิดบูธคลินิกช่างเพื่อประชาชน ฟรี โดยมีวิศวกรอาสาจากทุกสาขามาให้บริการคำปรึกษาแนะนำเกี่ยวกับงานวิศวกรรม และการซ่อมแซมบ้าน ภัยพิบัติในประเทศไทยมีทั้งภัยพิบัติจากธรรมชาติและภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ ด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ความผิดเพี้ยนของฤดูกาล การเดินทางไปมาหาสู่กันได้รวดเร็ว และอีกหลายสาเหตุมากมาย แนวโน้มภัยพิบัติจะเกิดถี่มากขึ้นและทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสัญญาณบอกว่ามนุษย์เราควรที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนและปรับตัวตัวรับมือกับสถานการณ์เหล่านั้นอย่างเหมาะสมและทันเหตุการณ์ โดยเฉพาะภัยจากแผ่นดินไหว, ภัยแล้ง และอุทกภัย ในปีหน้า 2559 วสท.เตรียมติดตั้งเครื่องวัดแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว (Seismometer) บนตึกสูงตั้งแต่ 20 ชั้นขึ้นไป โดยจะนำร่องติดตั้ง 6 เครื่อง โดยติดตั้งเครื่องแรกที่อาคาร วสท. และมหาวิทยาลัยอีก 5 แห่ง ทั่วกรุงเทพฯ พร้อมสร้างเครือข่ายขอความสนับสนุนจากภาครัฐ และเอกชนในการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวในอาคารของตนเอง และจะร่วมบริหารจัดการข้อมูลกับกรมโยธาธิการและผังเมือง กรุงเทพมหานคร นอกจากนี้ วสท.ได้ลงนามให้ความร่วมมือทางวิชาการกับการประปานครหลวง เกี่ยวกับวิธีการจัดการส่งน้ำดิบจากสำแลมายังโรงกรองสามเสน และการสำรวจเพื่อจัดเก็บน้ำประปาในหอสูงที่กระจายอยู่ทั่วไปในกรุงเทพ ฯ เพื่อใช้เป็นปริมาณสำรอง และปรับบังคับความดันน้ำในชั่วโมงการใช้น้ำสูงเพื่อลดค่าพลังงานในการผลิตน้ำประปา”

รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ (Assoc.Prof.Dr. Seree Supharatid) ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ในปีหน้า 2559 สถานการณ์ภัยแล้งเป็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุด จากอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนีโญ(El Nino) ในปีนี้ ทำให้ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลดน้อยลงกว่าปีที่แล้วถึง 40% ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการใช้น้ำภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะภาคเกษตรกรรม อย่างไรก็ตามนอกจากปัญหาภัยแล้งในช่วงต้นปี 59 แล้ว ในช่วงหลังกลางปี ตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป จนถึงปี 60 ประเทศไทยอาจเผชิญกับอุทกภัยครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง เพราะโลกจะเข้าสู่ปรากฏการณ์ลานีญา (La Nina) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงข้ามกับเอลนีโญ (El Nino) โดยผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย คือ จะมีฝนในปริมาณที่สูงกว่าปกติซึ่งก็จะส่งผลต่อภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ได้ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศไทยจะเกิดลาณีญารุนแรงมากแค่ไหน แต่ในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์ถึงระดับความรุนแรงที่จะเกิดขึ้นได้ คาดว่าประมาณช่วงกลางปี 59 เป็นต้นไปก็จะสามารถรู้ได้ว่าประเทศไทยจะเจอกับภัยน้ำท่วมหรือไม่ และมีความรุนแรงมากแค่ไหน ขอเตือนให้ประชาชนชาวไทยติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงที สำหรับมาตรการรับมือกับน้ำท่วมควรหาพื้นที่พักน้ำหรือที่เรียกว่าแก้มลิง สร้างอ่างเก็บน้ำทั้งขนาดเล็ก และขนาดกลางให้ได้มากที่สุด เพื่อกักเก็บน้ำในฤดูฝน และเป็นแหล่งสำรองน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง ส่วนพื้นเขตเมืองใหญ่ซึ่งเต็มไปด้วยสิ่งปลูกสร้างและการขยายตัวของเมืองโดยขาดการวางแผนพื้นที่รับน้ำ มักจะประสบปัญหาน้ำท่วมและระบายน้ำไม่ทัน ควรรื้อฟื้นระบบคูคลองและกำหนดพื้นที่เก็บน้ำให้มีสัดส่วนเหมาะสมกับการขยายตัวของเมือง กล่าวคือควรสงวนพื้นที่ชุ่มน้ำไว้ให้เพียงพอนั่นเอง
…จากรายงานไอพีซีซียืนยันระดับน้ำทะเลสูงขึ้น 3 มม.ต่อปี หากบวกกับปัญหาแผ่นดินทรุด 1-2 เซนติเมตรต่อปี อนาคต 50 ปีข้างหน้า ถ้าไม่มีการเสริมคันริมทะเลฝั่งตะวันออกจะกระทบจากน้ำท่วม เป็นการท่วมถาวร วันนี้ยังไม่ได้คุยกันเรื่องการวางระบบ ถ้าไม่ทำอะไรเลยเกิดปัญหาแน่นอน อนาคตหนีไม่พ้นท่วมแล้งๆ เราต้องวางแผนป้องกันและเตรียมพร้อม เพราะภัยแล้งในอนาคตจะเป็นเรื่องหนักหนาที่สุดของประเทศไทย รองลงมาเป็นน้ำท่วม การวางผังเมืองต้องตัดสินใจยอมให้น้ำเข้าได้แค่ไหน โดยมีแผนรองรับ”

รศ.ดร.สุจริต คูณธนกุลวงศ์ (Sucharit Koontanakulvong) หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมแหล่งน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัญหาภัยแล้งในประเทศไทยเกิดจากฝนที่ตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ย 5 – 10% เป็นระยะเวลากว่า 3 ปี ขณะที่ความต้องการใช้น้ำทั้งในภาคเกษตรกรรมและภาคครัวเรือนมีเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไม่มีน้ำเพียงพอต่อภาคเกษตรกรรม และอาจจะมีปัญหาลุกลามไปถึงการอุปโภคบริโภค จากนี้ไปสภาพดินฟ้าอากาศ ของประเทศไทยจะ เปลี่ยนแปลงแปรปรวนไปหมด สาเหตุจากหลายปัจจัย ทั้งภาวะโลกร้อนและเอลนีโญ (El Nino) ที่อาจจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นกว่าปี 2558 ปรากฏการณ์เอลนีโญเกิดจากอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันออกเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ ส่งผลให้ฝนในประเทศไทยตกช้า ตกน้อย และหยุดเร็วจากปกติ และในปีหน้าฤดูร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิกมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากปกติในรอบ 50 ปี พื้นที่ที่น่าห่วง คือภาคเหนือ กลาง อีสาน และตะวันตก ดังนั้นคนไทยต้องพยายามใช้น้ำอย่างประหยัดไปจนถึงเดือนพฤษภาคมปีหน้า 2559 มาตรการระยะสั้นคงจะต้องช่วยกันรณรงค์เรื่องของการประหยัดน้ำในเขตพื้นที่เมือง สำหรับภาคเกษตรต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อรับมือกับสภาวะภัยแล้งได้อย่างยั่งยืน เนื่องจากต้องประสบปัญหาภัยแล้งเป็นประจำทุกปี เช่น จัดหาแหล่งน้ำต้นทุนในชุมชนของตัวเอง อาทิ ขุดสระน้ำในไร่นาหรือขุดบ่อบาดาลเพื่อเตรียมไว้ใช้สำหรับการผลิต ทางที่ดีควรรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อลดค่าใช้จ่าย และปรับเปลี่ยนจากการปลูกข้าวเต็มพื้นที่ มาเป็นการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยแต่มีมูลค่าทางตลาดสูงเสริมเข้าไป เช่น เมล่อน มัน ถัว ข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งขณะนี้มีเกษตรกรในหลายพื้นที่หันมาปลูกกันอย่างแพร่หลายมากขึ้น และหลังจากเดือนมกราคมปี 59 รัฐบาลอาจมีความจะเป็นต้องลดแรงดันน้ำ เพื่อลดน้ำรั่วและการใช้น้ำในตอนกลางคืน รวมถึงต้องมีการวางแผนการใช้น้ำให้เหมาะสมกับน้ำสำรองที่มีอยู่ สำหรับมาตรการในระยะยาวนั้น รัฐบาลควรมีมาตรการที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถปรับตัวได้ เช่น ผลักดันให้เกิดโครงสร้างการเพาะปลูกที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ สนับสนุนให้เกษตรกรเรียนรู้ถึงวิธีการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆ ที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศในแต่ละช่วงจังหวะ หรือการปลูกพืชแบบยืดหยุ่น ตามหนองบึงพยายามเก็บน้ำในฤดูฝนและใช้ประโยชน์จากน้ำในฤดูฝนให้ได้มากที่สุด ที่เหลือก็คงเป็นเรื่องของรัฐบาลว่าจะมีการบริหารจัดการเชิงโครงสร้าง จัดการปรับแผนการใช้ที่ดินที่เหมาะสม และแผนแม่บทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างเป็นระบบ ยืดหยุ่น และยั่งยืนอย่างไร”

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ (Assoc. Prof .Dr. Suttisak Soralump) อุปนายก และประธานคณะอนุกรรมการ สาขาวิศวกรรมปฐพี วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “สถานการณ์ภัยแล้งในไทยขณะนี้อยู่ในขั้นน่าเป็นห่วง อาจส่งผลกระทบต่อโครงสร้างสาธารณูปโภค ทำให้ถนนหลายสายเกิดการทรุดตัวเพิ่มมากขึ้น ทั้งจากภาวะน้ำแล้งและการสูบน้ำ ทำให้สูญเสียสภาพการออกแบบเดิมของถนน ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นกับถนนที่ก่อสร้างบนชั้นดินอ่อน ทั้งนี้หากยังมีภัยแล้งและมีการสูบน้ำอย่างต่อเนื่อง การวิบัติอาจลุกลามและรุนแรงมากขึ้นก็เป็นได้ ในปี 59 ปัญหานี้จะยังคงมีต่อไป การแก้ปัญหาต้องอาศัยการตัดสินใจจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดย วสท.ยินดีเป็นเจ้าภาพกลาง และสนับสนุนทางวิชาการอย่างเป็นกลาง ตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยเป็นความร่วมมือกับกรมชลประทาน และมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ถนนริมคลอง เช่น กรมทางหลวงชนบท หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นต้น”

ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย (Prof. Dr. Pennung Warnitchai) นักวิชาการจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) และประธานคณะอนุกรรมการด้านผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลมของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) กล่าวว่า “พื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อภัยแผ่นดินไหวสูงสุดในประเทศไทยคือจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันตก เพราะเป็นพื้นที่ที่อาจเกิดแผ่นดินไหวในขนาดเดียวกับทีเพิ่งเกิดกับจังหวัดเชียงรายเมื่อปีพ.ศ.2557 ซึ่งมีขนาด6.3 ริกเตอร์ อีกทั้งยังมีรอยเลื่อนมีพลังหลายรอยที่อาจก่อให้เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ขนาด7.0 ริกเตอร์ได้อีกด้วย แต่อาคารบ้านเรือนในพื้นที่เหล่านี้มักจะมิได้ถูกออกแบบก่อสร้างให้ทนต่อแผ่นดินไหวที่รุนแรงแบบนี้ อาคารจึงอาจเสียหายและผู้ที่อยู่อาศัยในอาคารอาจบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ การลดภัยพิบัติจากแผ่นดินไหวจึงจำเป็นต้องเน้นที่การทำให้อาคารในพื้นที่เสี่ยงภัยนี้มั่นคงแข็งแรง ต้องมีกฎหมายควบคุมการออกแบบก่อสร้างใหม่ กฎหมายส่งเสริมการเสริมกำลังอาคารเก่าที่อ่อนแอ ต้องมีมาตรฐานการออกแบบและเสริมกำลังเพื่อเป็นแนวทางแก่วิศวกรและผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังต้องมีการฝึกฝนวิศวกรให้สามารถนำมาตรฐานเหล่านี้มาใช้ได้อย่างถูกวิธี กรุงเทพมหานครและปริมณฑลก็เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่มีความเสี่ยงต่อภัยจากแผ่นดินไหว แต่ความเสี่ยงในพื้นที่นี้แตกต่างจากบริเวณภาคเหนือ เป็นความเสี่ยงที่เกิดจากแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ไกลจากกรุงเทพ แต่อาจส่งคลื่นสั่นสะเทือนมาเขย่ากรุงเทพได้ เพราะที่นี่มีแอ่งดินอ่อนขนาดยักษ์ที่สามารถขยายความรุนแรงของคลื่นสั่นสะเทือนได้ถึง3-4เท่าตัว คลื่นสั่นสะเทือนนี้จะเป็นคลื่นที่มีจังหวะการสั่นค่อนข้างช้าจึงมักจะเขย่าเฉพาะอาคารที่มีจังหวะการโยกตัวช้าๆนั่นคืออาคารสูงตั้งแต่15ชั้นขึ้นไป งานวิจัยล่าสุดได้ชี้ว่า แผ่นดินไหวในบางกรณีอาจทำให้อาคารสูงเป็นจำนวนมากเสียหายรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อผู้คนในอาคาร และอาคารที่อ่อนแอบางหลังอาจพังถล่มลงมา ด้งนั้นมาตรการควบคุมการออกแบบอาคารใหม่ให้แข็งแรงและมาตรการการตรวจสอบหาอาคารเก่าที่อ่อนแอจึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง”

คุณกอบชัย บุญอรณะ (Mr.Kobchai Boonyaorana) รองอธิบดี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า“การเตรียมพร้อมเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง การบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศไทยแบ่งได้ 3 ระดับ คือ 1.เชิงรับ มุ่งบรรเทาความเดือนร้อนและบรรเทาทุกข์เบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย 2.เชิงรุก เน้นการป้องกัน การลดผลกระทบ การเตรียมความพร้อมควบคู่กับการจัดการภาวะฉุกเฉินและการฟื้นฟูบูรณะ และสุดท้าย 3.ยั่งยืน ประชาชนต้องมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และประเทศไทยต้องเป็นเมืองที่ปลอดภัยน่าอยู่ ซึ่งการจัดการภัยพิบัตินั้นเราอาศัยชุมชนเป็นฐาน ให้คนในชุมชนร่วมคิด วิเคราะห์ความเสี่ยงภัยในชุมชน ทำเป็นแผนที่เสี่ยงภัย ร่วมกันกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานตั้งแต่ การเฝ้าระวัง การแบ่งมอบหมายหน้าที่ กำหนดเส้นทางและพื้นที่อพยพในกรณีจำเป็น ร่วมกันดูแล เฝ้าระวัง ป้องกัน หลีกเลี่ยง และลดความรุนแรงของภัย ควรมีการฝึกซ้อมแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจภารกิจหน้าที่มากขึ้น และเป็นการเตรียมความพร้อมป้องกัน แก้ไข กู้ภัยและบรรเทาภัย ทั้งในเรื่องกำลังคน ยานพาหนะ เครื่องมืออุปกรณ์ รวมทั้งการสำรวจพื้นที่เสี่ยงภัย และประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อหาแนวทางการบริหารจัดการร่วมกัน”

ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) มุ่งขับเคลื่อนการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนชาวไทยให้ได้รับการดูแลด้านความปลอดภัยจากภัยพิบัติ ภายใต้วาระสำคัญของรัฐบาล “ประเทศไทยปลอดภัย (Safety Thailand)” เพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็นเมืองปลอดภัย น่าอยู่ รู้รับ ปรับตัว ฟื้นกลับจากภัยพิบัติอย่างรวดเร็วและยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญในการพัฒนาตามวิสัยทัศน์ประเทศไทย ค.ศ.2015 – 2020 “ประเทศมั่นคง ประชาชนมั่งคั่ง ประชาคมยั่งยืน “