รูปแบบเกษตรกรยุค 1.0 – 4.0

0
2604
image_pdfimage_printPrint

รูปแบบเกษตรกร ยุค 1.0 – 4.0
คำว่าเกษตรกร 4.0 ทุกคนคงเคยได้ยินกันบ่อยแล้ว แต่จริงๆ เกษตรกรมีวิวัฒนาการมาก่อนจะเป็น 4.0 เนื่องจากยุคสมัยที่เปลี่ยนไป มีความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมมากมายที่เข้ามาช่วยทำให้เกษตรกรไม่ต้องลำบากอีกต่อไป เปลี่ยนภาพของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น มีรายได้มากขึ้น มีอำนาจต่อรองซื้อขายได้มากขึ้น เราจึงได้เห็นภาพคนรุ่นใหม่หันกลับมาทำเกษตรและสร้างรายได้ให้ตัวเองเป็นกอบเป็นกำ และยังได้ความยืดหยุ่นในการใช้ชีวิตที่มากกว่าการทำงานประจำ หรืออีกสิ่งที่น่าจะเคยได้ยิน คือ การรวมกลุ่มกันของเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer ในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เพื่อพัฒนาภาคเกษตรกรรมไปพร้อมกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเกษตร
รูปแบบเกษตรกรในประเทศไทย
เกษตรกร 1.0
เกษตรกรแบบดั้งเดิม หรือ Traditional: เกษตรกรกลุ่มนี้มีพื้นที่เพาะปลูกน้อย เน้นการใช้แรงงานคน และยังต้องต่อสู้กับปัญหาสภาพสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เช่น สภาพอากาศ ฝนตกชุก อากาศร้อนจัด การขาดแคลนน้ำ และที่สำคัญคือราคาผลผลิตที่ต่ำกว่าราคาตลาดทั่วไปอย่างมาก เพราะเกษตรกรไม่มีช่องทางการจัดจำหน่าย ทำให้ต้องพึ่งพาคนกลางเพื่อจัดจำหน่ายให้แทน จึงไม่มีอำนาจต่อรองในเรื่องราคาผลผลิต
เกษตรกร 2.0
เกษตรกรแบบประยุกต์ใช้เครื่องจักรเบา หรือ Light Machinery: เกษตรกรกลุ่มนี้มีการปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย เริ่มนำเครื่องจักรเบามาใช้แทนแรงงาน เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องฉีดพ่น และแทรกเตอร์ขนาดเล็ก เป็นต้น รวมถึงมีการวางระบบต่างๆ มากขึ้น เช่น การวางระบบน้ำแบบหยด แบบสปริงเกอร์ หรือแบบพ่นหมอก หรือระบบจัดเก็บผลผลิต เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรรูปแบบนี้คือกลุ่มที่มีรายได้มากพอจะลงทุนกับเครื่องจักรเบา หรือระบบต่างๆ จึงช่วยในการทุ่นแรงเกษตรกรได้มากกว่าแบบดั้งเดิม
เกษตรกร 3.0
เกษตรกรแบบประยุกต์ใช้เครื่องจักรหนัก หรือ Heavy Machinery: เกษตรกรกลุ่มนี้มีการลงทุนสูงขึ้น โดยการนำเครื่องจักรที่ใช้เทคโนโลยี หรือเครื่องจักรที่มีราคาสูงมาประยุกต์ใช้ในการทำเกษตร เช่น เครื่องสูบน้ำ รถเกี่ยวนวดข้าว แทรกเตอร์ขนาดใหญ่ เครื่องคัดแยกขนาด เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพื่อการทุ่นแรง ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร เพิ่มคุณภาพ หรือเพื่อการแปรรูปผลผลิต เป็นต้น ส่วนใหญ่จะเป็นบริษัทฯ ทางการเกษตรที่ต้องการกำลังการผลิตมาก มีช่องทางการจัดจำหน่ายของตนเองที่แน่นอน หรือผลิตเพื่อการส่งออก เป็นต้น
เกษตรกร 4.0
เกษตรกรประยุกต์ใช้ระบบอัจฉริยะ หรือ Smart Farmer: เกษตรกรกลุ่มนี้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยในการเพาะปลูก การจัดการ และการตลาด เพื่อควบคุมการดำเนินงานเพื่อพัฒนาไปสู่การทำเกษตรแบบแม่นยำมากขึ้น ตัวอย่างนวัตกรรมการเกษตร เช่น ระบบรดน้ำหรือเพาะปลูกพืชแบบอัจฉริยะ, เครื่องบินโดรน, ระบบแสดง GPS, ระบบ Data Management เป็นต้น ซึ่งเกษตรกรสามารถควบคุมทุกอย่างผ่านระบบอินเตอร์เน็ตได้ เป็นการนำเทคโนโลยีจำพวก Internet of Things (IoTs), Machine Learning และ Artificial Intelligence (AI) มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ประโยชน์ของระบบอัจฉริยะก็เพื่อจัดเก็บข้อมูลค่าสภาพแวดล้อมพื้นที่เพาะปลูก เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนเตรียมรับมือในทุกสภาวะได้ เป็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต (Increase Productivity) ช่วยลดต้นทุนได้ในระยะยาว (Save Cost) ลดความผิดพลาดจากการกระทำของมนุษย์ (Human Errors) เป็นความพยายามในการเพิ่มมูลค่าของผลผลิตแทนที่การเน้นแต่ปริมาณ (Create Value) แต่ทั้งนี้เกษตรกรในกลุ่มนี้จะต้องเพิ่มการลงทุนที่มากกกว่ากลุ่มอื่น เพื่อผลตอบแทนที่ดีในอนาคต
นอกเหนือจากประโยชน์ของระบบเกษตรอัจฉริยะดังกล่าว อย่าลืมว่ายิ่งเกษตรกรสามารถควบคุมการดำเนินงานได้ดี มีผลผลิตที่สามารถควบคุมทั้งปริมาณและคุณภาพ เกษตรกรก็ยิ่งมีอำนาจต่อรองในด้านการตลาดมากขึ้น ไม่ถูกกดราคาหรือถูกเอาเปรียบจากกลุ่มอื่น ซึ่งทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับเกษตรกรที่อยากพัฒนาตนเองให้กลายเป็น Smart Farmer
ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ SPsmartplants เพิ่มเติม คลิก : https://www.spsmartplants.com?campaign=SP005

ข้อมูลอ้างอิง: บทความ อนาคตเกษตรในไทยแลนด์ 4.0 (Marketeeronline)
เขียนเพิ่มเติม: SPsmartplants