รัฐบาล โดย ทส. ผนึกกำลังเครือข่ายไฟป่า เปิดตัวชิงเผาโดยใช้โดรน

0
405
image_pdfimage_printPrint

ทส. นำร่องใช้แม่แจ่มโมเดลในการแก้ไขปัญหาไฟป่าในระดับอำเภอ หวังนำร่องบูรณาการทุกภาคส่วน ร่วมมือร่วมใจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าใน 9 พื้นที่เสี่ยงของภาคเหนือ ล่าสุดใช้เทคโนโลยีใหม่
ชิงเผาโดยใช้อากาศยานไร้คนขับเป็นครั้งแรก พร้อมปล่อยกำลังพลในการลาดตระเวนร่วมกับชาวบ้าน ผู้นำชุมชน ในการป้องกันไฟป่าทั่วประเทศ
พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีว่า ได้ให้ความสำคัญ
ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าทั้งในประเทศและระดับอาเซียน โดยปฏิบัติการเชิงรุกชิงเผาช่วงต้นฤดูการเกิดไฟป่าในพื้นที่เสี่ยง 9 พื้นที่ทางภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย ลำพูน ตาก แพร่ แม่ฮ่องสอน พะเยา และน่าน โดยนำร่องที่แม่แจ่ม ใช้เทคโนโลยี 4.0 มาประยุกต์ใช้กับการชิงเผาด้วยการใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะช่วยจัดการเชื้อเพลิงในพื้นที่สูงชันที่เข้าถึงได้ยากแล้ว ยังช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดเวลา และแรงงานคนได้อีกด้วย
ด้านนายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมป่าไม้ เปิดเผยถึงสถานการณ์ไฟป่าปี 2561 ว่า ในพื้นที่
ป่าสงวนแห่งชาติ พบจุดความร้อน จำนวน 3,753 จุด โดยมีการดับไฟป่า จำนวน 513 ครั้ง พื้นที่เสียหายรวม 20,212 ไร่ ภาคเหนือตอนบน ตรวจพบจำนวน 2,417 จุด ภาคเหนือตอนล่าง จำนวน 453 จุด
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 570 จุด ภาคกลาง จำนวน 298 จุด และภาคใต้ จำนวน 15 จุด ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบปี 2560 กับ ปี 2561 พบว่ามีจำนวนลดลงถึง 541 จุด จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ตั้งไว้ได้เป็นอย่างดีโดยกรมป่าไม้นอกจากจะสร้างความรับรู้
ความเข้าใจให้แก่ประชาชนในเรื่องของการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันแล้ว ยังส่งเสริม
ความมีส่วนร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างความเข้มแข็งของเครือข่าย ตลอดจนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมไฟป่าอีกด้วย
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีกิจกรรมการสาธิตปฏิบัติการสนธิกำลังในการดับไฟป่า การชม
ห้องสถานการณ์ควบคุมไฟป่า กิจกรรมการลดปริมาณเชื้อเพลิง โดยนำกิ่งไม้ ใบไม้ หรือวัชพืชมาทำปุ๋ยอินทรีย์
การเดินรณรงค์ป้องกันไฟป่า พร้อมปล่อยกำลังพลลาดตระเวนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยกิจกรรม
ในครั้งนี้ มุ่งเน้นกระบวนการการมีส่วนร่วม ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการแก้ไขปัญหา
ทั้งภาครัฐภาคเอกชน ภาคประชาชน ทหาร ตำรวจ เครือข่ายความร่วมมือในการควบคุมไฟป่า และเยาวชน
ในพื้นที่