มหิดลเดินสายทั่วประเทศในวาระดำเนินงานครบ 1 ปี เวทีอึด ฮึด ฟัง ประมวลภาพความสำเร็จผ่านวิดีทัศน์สารคดี

0
216
image_pdfimage_printPrint

สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล โดยความร่วมมือและการสนับสนุนจากโครงการสะพานเสริมสร้างประชาธิปไตย (SAPAN) จัดกิจกรรมเดินสายเวทีอึด ฮึด ฟัง ขึ้นทั่วประเทศ ในวาระดำเนินงานครบ 1 ปี (กุมภาพันธ์ 2555 – กุมภาพันธ์ 2556) โดยได้จัดขึ้นตามจังหวัดต่างๆ เริ่มตั้งแต่ กรุงเทพมหานคร ขอนแก่น อุบลราชธานี เชียงใหม่ นราธิวาส นครศรีธรรมราช และพิษณุโลก ตามลำดับ โดยกิจกรรมดังกล่าวได้ดำเนินการเสร็จสิ้นและได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้เข้าร่วมทั่วทั้งภูมิภาค อาทิ เครือข่ายภาคประชาสังคมและนิสิตนักศึกษา องค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรที่ทำงานด้านความปรองดอง และสื่อสารมวลชน กว่า 500 ท่าน

ในโอกาสที่ดำเนินโครงการเวทีสันติประชาธิปไตย ครบ 1 ปี กิจกรรมที่จัดขึ้นภายในงานประกอบไปด้วยการบรรยายและร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นโดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในแต่ละเครือข่ายจังหวัด ถึงภาพรวมของโครงการเวทีสันติฯ รวมไปถึงกิจกรรมในอนาคตที่ต่อยอดหลังจากเสร็จสิ้นโครงการฯ การถกแถลงถึงประเด็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับชาติและประเด็นในพื้นที่ โดยมีประเด็นสำคัญในระดับชาติทั้ง 4 ประเด็น ได้แก่ 1) ความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2) การศึกษาของพลเมือง 3) การมีส่วนร่วมถกแถลงรัฐธรรมนูญ และ 4) การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น กิจกรรมภายในงานมีการประมวลภาพความสำเร็จของโครงการเวทีอึด ฮึด ฟัง ผ่านวิดีทัศน์สารคดีซึ่งได้ประมวลภาพตั้งแต่เริ่มโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน ทุกภูมิภาค ทั่วประเทศ  เพื่อรณรงค์การฟังอย่างตั้งใจและการพูดอย่างมีสติ โดยเผยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างกันจากภาคส่วนต่างๆ ได้ร่วมถกแถลงถึงความขัดแย้งทางการเมือง การระบุถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขที่เหมาะสมอันเป็นไปได้ที่จะนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยและสันติภาพ ทั้งนี้ยังได้แสดงให้เห็นถึงการเป็นพื้นที่เปิดที่สร้างความไว้วางใจระหว่างภาคส่วนต่างๆ ที่มีแนวคิดต่างกันทางการเมือง โดยหวังให้เกิดความต่อเนื่องในการทำงานร่วมกันในระยะยาว และข้อเสนอแนะจากฝ่ายต่างๆ ที่ได้เข้าร่วมเวที เพื่อนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป เพื่อหวังให้ประเทศชาติมุ่งไปข้างหน้าอย่างเรือกรรเชียง

 

จากการจัดกิจกรรมครั้งนี้ ปรากฏข้อเสนอแนะ และประเด็นสำคัญซึ่งมีการถกแถลงอย่างต่อเนื่องดังนี้ เครือข่ายจังหวัดขอนแก่นร่วมถกแถลงและให้ความสำคัญถึงการศึกษาของพลเมือง ซึ่งจะช่วยสร้างให้ประชาชนเป็นพลเมือง คือ การใช้ชีวิตอย่างมีเหตุผล คำนึงถึงสิทธิของของคนอื่น การเคารพการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ การสอนให้คนในสังคมรู้จักเคารพกฎเกณฑ์ของบ้านเมือง และเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมก่อน นอกเหนือจากประเด็นการศึกษาของพลเมืองแล้ว ยังเน้นถึงเรื่องของการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยทุกคนทุกสัดส่วนอาชีพต้องมีส่วนร่วมในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยในเวทีนี้ได้วิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิอย่างคุณเจริญลักษณ์ เพชรประดับ ร่วมด้วย อ.บัวพันธุ์ พรหมพักพิง และอ.พรอมรินทร์ พรหมเกิด ร่วมขับเคลื่อนประเด็นสำคัญต่างๆ ในพื้นที่

 

ประเด็นสำคัญในพื้นที่เครือข่ายจังหวัดอุบลราชธานี ได้รับเกียรติจาก คุณนิกร วีสเพ็ญ กกต. จังหวัดอุบลราชธานีร่วมพูดคุย ในเวทีฯ ถึงปัญหาอันสืบเนื่องมากจากการเจริญเติบโตของเมืองอย่างต่อเนื่อง อาทิ การเข้ามาของห้างสรรพสินค้าในจังหวัดต่างๆ  ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่หลายๆ ด้าน ซึ่งยังไม่มีมาตรการการกำกับและดูแลที่ชัดเจนและรอบคอบ อาทิ ความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ของประชาชน และเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ผู้เข้าร่วมหลายๆ ท่านต่างสนับสนุนกิจกรรมนี้ โดยเห็นว่าเป็นโครงการฯ ที่มีประโยชน์หากภาคประชาสังคมนำไปประยุกต์ใช้ได้จริง โดยไม่เกรงกลัวอำนาจมืดที่มองไม่เห็น ทั้งนี้ยังมองว่าปัญหาการศึกษาของเยาวชนเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งเห็นได้จากเรื่องพื้นฐาน เช่น นักเรียน นักศึกษาท้องในวัยเรียน หรือการรู้จักสิทธิหน้าที่ของตนเองในการใช้สิทธิเลือกตั้งนายกสโมสรของมหาวิทยาลัย หรือปัญหาการคุกคามสื่อจากกรณีที่ละครเหนือเมฆถูกถอดออกจากผังรายการเนื่องจากมีลักษณะตัวละครคล้ายกับนักการเมืองไทย

 

ในพื้นที่เครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมุ่งเน้นประเด็น “จังหวัดจัดการตนเอง” โดยได้รับความสนใจจากผู้ทรงคุณวุฒิภาคประชาสังคมหลายท่านเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ เช่น คุณสวิง ตันอุด ผู้อำนวยการสถาบันการจัดการทางสังคม คุณบุษยา คุณากรสวัสดิ์ ผู้ประสานงานฝ่ายนโยบายภาคีเครือข่ายเชียงใหม่จัดการตนเอง  คุณพรหมศักดิ์ แสงโพธิ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายบ้านชุ่มเมืองเย็น อ.ดร.พนม กุณาวงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการบริหารกิจการบ้านเมืองระดับท้องถิ่น คณะรัฐศาสตร์ และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมเปิดพื้นที่พูดคุยในประเด็นปัญหาสำคัญในระดับพื้นที่ ได้แก่ การถกแถลงเนื้อหารัฐธรรมนูญอย่างมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าของโดยประชาชน การผลักดัน พรบ. จังหวัดจัดการตนเอง และการกระจายอำนาจที่มาจากพลเมือง การเคารพความมีอัตลักษณ์ที่แตกต่างกัน และร่วมก้าวข้ามความต่างทางความคิด ทั้งนี้ได้รับเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมโครงการฯ ในเรื่องการตรวจสอบ หรือมาตรการในการป้องกันไม่ให้เกิดการทุจริตคอรัปชั่นในส่วนของงบประมาณหากเกิดการกระจายอำนาจที่เป็นจริงแล้ว

 

สำหรับเครือข่ายจังหวัดนราธิวาส ประเด็นศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การมีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญ และการกระจายอำนาจ ถูกยกเป็นประเด็นสำคัญในพื้นที่ โดยในมุมมองของคนในพื้นที่ต่อประเด็นแรกเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั้น ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ความเสมอภาคของมนุษย์ไม่เป็นไปตามตัวบทกฎหมายที่ระบุไว้ โดยมีความแตกต่างและเหลื่อมล้ำเช่นเดียวกับเรื่องของศาสนาต่างๆ ในนิกายที่ต่างกัน อีกปัจจัยสำคัญคือ กฏอัยการศึกเองที่เป็นตัวทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การเข้าจับกุมโดยไม่ต้องขอหมายศาล และการไม่เข้าใจในวัฒนธรรมประเพณี ทั้งนี้ในเวทีสันติฯ มีประเด็นเพิ่มเติมในความต่างระหว่าง “ประชากร” และ “พลเมือง” โดยที่ความเป็นพลเมืองนั้นหมายถึงกำลัง พลัง กลุ่มคนในท้องถิ่น การที่พลเมืองจะมีคุณภาพนั้นคือการได้รับการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ และส่งเสริมให้พลเมืองมีคุณธรรมควบคู่ไปกับความรู้ อ.อัศว์มันต์ บินยูโซะ ผู้ประสานงานโครงการเวทีสันติฯ จังหวัดนราธิวาส กล่าวเสริมอีกว่า “หลักสูตรการศึกษาในภาคใต้ตอนล่างไม่สามารถใช้แบบเดียวกันกับคนในเมืองกรุงได้ เพราะวิถีชีวิตของคนภาคใต้ตอนล่างมีศาสนาอิสลามเข้ามาเกี่ยวข้อง” ด้านรอง ผอ.สมพร ดำหนูอินทร์ ชี้แจงเพิ่มเติมในเรื่องของการศึกษาของพลเมืองว่า ระบบการศึกษาของเรายังไม่นิ่ง มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเนื่องจากการเปลี่ยนขั้วอำนาจ ทำให้การศึกษาไม่มีการจัดการอย่างต่อเนื่องและด้อยคุณภาพ การศึกษาที่ได้ผลต้องมาจากตัวแบบหรือต้นแบบที่ดี ในเวทีฯ ยังได้เสนอแนะเพิ่มเติมถึงความต้องการของคนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ คือการคืนอำนาจให้แก่ประชาชน โดยกระจายเงิน กระจายคน แล้วคนในพื้นที่จะจัดสรรเอง ปัญหาที่เห็นได้ชัดคือ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคนในพื้นที่ไม่สามารถจัดการนำไปค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างเสรี เนื่องจากอยู่ภายใต้การควบคุมของภาครัฐ และรัฐไม่ได้คำนึงถึงความมั่นคงของประชาชน คำนึงถึงแต่ความมั่นคงของรัฐเอง ทั้งนี้ประเด็นความขัดแย้งในพื้นที่ที่ยังคงร้อนระอุอยู่นั้น คนในพื้นที่ต่างเสนอแนะว่าประเด็นหลักของความขัดแย้งคือ วัฒนธรรม ประเพณี อัตลักษณ์ท้องถิ่น ภาษาถิ่น ที่คนต่างถิ่นหรือภาครัฐไม่เข้าใจ กล่าวเสริมโดย คุณสุรศักดิ์ อุทัยเลิศ ผู้พิพากษาสมทบศาลเยาวชนและครอบครัว

 

เวทีในเครือข่ายจังหวัดนครศรีธรรมราชและพิษณุโลกพบข้อเสนอแนะที่ใกล้เคียงกันกับเวทีในจังหวัดอื่นๆ คือ วิกฤติความขัดแย้งบ้านเมืองเกิดจากนักการเมืองที่มีอำนาจ ดิ้นรนหาผลประโยชน์ของตนเอง การแก้ปัญหาในขั้นต้นคือการให้การศึกษาที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับคุณธรรมตั้งแต่แรกเกิด และให้ตระหนักถึงสิทธิและหน้าที่ของบุคคล กล่าวคือต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนก่อน ชุมชนจึงจะแข็งแรง ทั้งนี้มีการเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมเวทีฯ ในเรื่องของนโยบายของรัฐว่า ควรให้ภาคประชาชนมีการโต้เถียงและเสนอแนะในเรื่องของนโยบาย ซึ่งประชาชนมีสิทธิในการโต้แย้งและเสนอนโยบายต่างๆ

 

จากการดำเนินงานตลอดระยะเวลา 1 ปี เวทีสันติประชาธิปไตยนับเป็นพื้นที่เสรีที่ทำให้ภาคประชาสังคม รวมไปถึงภาคส่วนที่สำคัญอื่นๆ ได้ร่วมถกถึงปัญหาในพื้นที่ของตนเองโดยที่ต่างมีความเชื่อ และความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ซึ่งจากการพูดคุยกันนี้จะสามารถก่อให้เกิดการเริ่มต้นระดมความคิด แล้วนำไปขยายผลต่อเพื่อเกิดการร่วมมือกันในระยะยาวต่อไป ทั้งนี้รูปแบบของกิจกรรมเวทีสันติฯ นี้ ได้ถูกนำไปปรับใช้ในแต่ละพื้นที่ ทั่วประเทศ  เพื่อร่วมพูดคุย ถกแถลง และสานเสวนาหาทางออกร่วมกันได้อย่างเหมาะสมของแต่ละพื้นที่และเกิดประโยชน์ต่อไป จากนี้ ในส่วนของการดำเนินงานเวทีสันติฯ โครงการ 2 ทางสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาจะแจ้งให้ทราบต่อไป