มหาวิทยาลัยจงหยวนนำตัวแทนสตาร์ทอัพไต้หวันสำรวจตลาดเมืองไทย

0
288
image_pdfimage_printPrint

การเดินทางเยือนประเทศไทยครั้งนี้สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southbound Policy) ของไต้หวัน เพื่อสร้างความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ที่กว้างขวางและหลากหลายกับกลุ่มประเทศเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ด้วยความสนใจที่มุ่งมายังตลาดอาเซียน ศูนย์ Industry Accelerator & Incubation Center (IAIC) ประจำมหาวิทยาลัยจงหยวนได้จัดงาน Bangkok Business Delegation ขึ้นเมื่อวันที่ 15-19 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา เพื่อช่วยเหลือกลุ่มสตาร์ทอัพในการขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ ด้วยการนำตัวแทนจากสตาร์ทอัพไต้หวัน 7 แห่ง เดินทางเยือนกรุงเทพมหานคร เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ร่วมมือกับผู้เล่นต้นน้ำและปลายน้ำในภาคเกษตรกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ ตลอดจนสร้างความเป็นพันธมิตรข้ามพรมแดนบนแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ (IoT) เพื่อร่วมมือแก้ปัญหาความท้าทายที่มีอยู่ในปัจจุบัน พร้อมสำรวจวิธีการพัฒนาใหม่ ๆ ไปด้วยกัน

กิจกรรมดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ในฐานะที่เป็นกิจกรรมซึ่งได้เปิดโอกาสให้บริษัทสตาร์ทอัพไต้หวันได้มาพบปะผู้ให้บริการทดสอบผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพและความงามอย่าง บริษัทซีไอดีพี (ประเทศไทย) ที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย พร้อมตามหาตัวแทนท้องถิ่นสำหรับผลิตภัณฑ์ของสตาร์ทอัพจากไต้หวัน ผ่านทางสมาคมการค้าไทย-ไต้หวัน และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ในขณะเดียวกันก็มีโอกาสแนะนำผลิตภัณฑ์ไต้หวันให้กับผู้ซื้อชาวไทยผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ PChome (ประเทศไทย) อีกทั้งยังได้รับการอำนวยความสะดวกด้านความร่วมมือในการผนวกรวมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ผ่านสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีการจัดงานสัมมนาระหว่างสตาร์ทอัพชาวไทยและไต้หวันขึ้นที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม โดยมีตัวแทนจากกองทุน 500 TukTuks ของไทย รวมถึงบริษัทท้องถิ่นอีก 4 แห่ง ได้แก่ QueQ, SHOP JJ, DRX Veterinary System และ GET! มาร่วมอภิปรายในหัวข้อต่าง ๆ และในงานนี้ IAIC ก็ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ ทรู ดิจิทัล พาร์ค ในการสร้างสะพานเพื่อเชื่อมโยงสตาร์ทอัพชาวไต้หวันและชาวไทยเข้าด้วยกัน พร้อมเร่งความเร็วด้านความร่วมมือในระดับนานาชาติ และจัดสรรทรัพยากรที่จำเป็นเพื่อการบ่มเพาะสตาร์ทอัพต่อไป

Yi-Ning Chen ผู้อำนวยการของ IAIC อธิบายว่า มหาวิทยาลัยจงหยวนมีโรงงานสาธิตการผลิตอัจฉริยะที่เป็นไปตามอุตสาหกรรม 4.0 ในระดับโลก และได้ทำ MOU กับวิทยาลัยเทคโนโลยีไทย-ไต้หวัน (BDI) ที่ตั้งอยู่ในไทยมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2562 มหาวิทยาลัยจงหยวนมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นฐานบ่มเพาะบุคลากรสำหรับการผลิตอัจฉริยะในไต้หวัน และยินดีต้อนรับทุกภาคอุตสาหกรรม รัฐบาล สถาบันการศึกษา ตลอดจนสถาบันวิจัยต่าง ๆ ที่ต้องการเยี่ยมชมและเข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยในการแลกเปลี่ยนความเห็นทุกประเด็น

รูปภาพ – https://photos.prnasia.com/prnh/20191023/2619760-1

คำบรรยายภาพ – Ms. Fai ผู้จัดการฝ่ายการตลาดชุมชนถ่ายภาพร่วมกับสตาร์ทอัพจากไทยและไต้หวันในงานสัมมนาที่ทรู ดิจิทัล พาร์ค เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม