มจพ. เผยผลวิจัยชี้ชัด อุตสาหกรรม “อ้อย-น้ำตาล” ไทย มีศักยภาพสูง พร้อมรับประชาคมอาเซียน

0
230
image_pdfimage_printPrint

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดสัมมนาเผยแพร่การประเมินศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) พบว่า ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำนั้น  ประเทศไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง พร้อมทั้งเสนอแนะภาครัฐควรให้การสนับสนุนเพื่อเพิ่มศักยภาพด้านปัจจัยการผลิต และการเพิ่มศักยภาพด้านกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับต่างๆ  ทั้งนี้ เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวเป็นผู้นำในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในตลาดอาเซียนอย่างต่อเนื่อง 

 

ผ.ศ. ดร.ศจีมาส ณ วิเชียร วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จัดสัมมนาการเผยแพร่การประเมินศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อย และน้ำตาลทราย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน โดยการสัมมนารายงานถึงศักยภาพในการดำเนินงานของประเทศในประชาคมอาเซียนตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ พบว่าไทยมีศักยภาพสูง มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายและกลยุทธ์เพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเพื่อการแข่งขัน ดังนี้

 

การเพิ่มศักยภาพด้านปัจจัยการผลิต

เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รัฐควรมุ่งไปที่การเพิ่มผลผลิตต่อไร   การลดต้นการเพาะปลูก การเพิ่มคุณภาพของผลผลิต  และการเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจุบันพบว่ายังเป็นปัญหาหรือจุดอ่อนของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลของไทย  นโยบายและมาตรการเหล่านี้ได้แก่

1.รัฐควรมีการพัฒนาแหล่งน้ำ มีการจัดการด้านชลประทานอย่างมีประสิทธิภาพทั้งนี้เพื่อให้น้ำสามารถเข้าถึงแหล่งเพาะปลูกอ้อยของเกษตรกรได้อย่างทั่วถึง   ด้วยเหตุผลที่ว่าพื้นที่ปลูกอ้อยมากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ยังคงต้อง อาศัยน้ำฝนที่มีความแปรปรวนสูง ทำให้ผลผลิตของอ้อยขาดเสถียรภาพตามไปด้วย

2. รัฐควรส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาพันธุ์อ้อย

2.1  ในการเพิ่มคุณภาพของอ้อย ให้มีค่าความหวานที่สูงขึ้น อ้อยไทยมีค่าความหวานต่ำเพียงประมาณ 11-12 CCS ในขณะที่ประเทศออสเตรเลียและบราซิลนั้นค่าความหวานของน้ำตาลอยู่ที่ประมาณ 13-15 CCS ซึ่งค่าความหวานที่สูงจะหมายถึงปริมาณผลผลิตน้ำตาลต่อตันอ้อยที่สูงขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากมีการเพิ่มคุณภาพของอ้อยให้สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตน้ำตาลของไทยต่ำลง

 

 

2.2 ให้มีผลผลิตต่อไร่ที่สูงขึ้น อีกทั้งรัฐต้องมีมาตรการสนับสนุนและชักจูงเกษตรกรให้ความร่วมมือในการเพาะปลูกอ้อยที่คิดค้นขึ้นมา   ทั้งนี้ปัจจุบันผลผลิตอ้อยต่อไร่ของไทยประมาณ 10.2 ตันต่อไร่ ขณะที่ประเทศออสเตรเลีย บราซิล มีผลผลิตอ้อยเฉลี่ย 13-14 ตันต่อไร่ และ12.5 ตันต่อไร่ตามลำดับ การมีผลผลิตต่อไรสูงก็จะช่วยลดต้นทุนการผลิต ทั้งยังสามารถส่งออกน้ำตาลไปแข่งขันในต่างประเทศด้วยต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้

2.3  ให้สามารถต้านทานโรค  และรักษาสภาพดินไว้ได้   เพราะที่ผ่านการปลูกอ้อยมาอย่างต่อเนื่องและยาวนานขาดการบำรุงรักษาอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของดิน  นอกจากนี้การเพาะปลูกอ้อยยังต้องพบกับการระบาดของโรคและแมลงที่สำคัญ เช่น โรคใบขาว โรคเหี่ยวเน่าแดง โรคแส้ดำ และหนอนกออ้อยชนิดต่างๆ ล้วนเป็นปัจจัยที่จำกัดผลผลิตทั้งสิ้น

3. รัฐควรใช้มาตรการด้านภาษี ในการลดภาษีเทคโนโลยี เครื่องจักรสำหรับการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวอ้อย  เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้เกษตรกรหันมาใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพในการเพาะปลูก  ช่วยลดต้นทุนค่าแรงงานที่มีแนวโน้มสูงขึ้น  และการขาดแคลนแรงงานในฤดูเก็บเกี่ยว   ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลระหว่างประเทศได้

 

2. การเพิ่มศักยภาพด้านกฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับ

  1. รัฐควรมีการทบทวน ระดมสมองฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และประชาพิจารณ์กฎหมาย ระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ให้มีความทันสมัยกับกาลเวลา โดยเฉพาะ พระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาล พ.ศ. 2527 ที่หลายฝ่ายเห็นว่าไม่เอื้อต่อแข่งขัน

1.1    ด้านการแบ่งผลประโยชน์    ที่ต่างเห็นไม่ตรงกันในเรื่องของความยุติธรรม  ทั้งที่การเกิดขึ้นของ พรบ. มาจากการรักษาความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ และคุ้มครองรักษาผลประโยชน์ของชาวไร่อ้อยและเจ้าของโรงงานน้ำตาล  ผู้มีส่วนไดเสียโดยตรงในด้านการผลิตและการจัดจำหน่าย ตั้งแต่การผลิตอ้อยไปจนถึงการจัดสรรเงินรายได้จากการขายน้ำตาลทรายทั้งในและนอกราชอาณาจักรระหว่างชาวไร่อ้อย และเจ้าของโรงงานน้ำตาลทรายเพื่อให้อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายเติบโตอย่างมีเสถียรภาพและเกิดความเป็นธรรมแก่ชาวไร่อ้อยเจ้าของโรงงานน้ำตาลและผู้บริโภค

1.2     ด้านการป้องกันการหายไปของน้ำตาลในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูง   ระบบของรัฐที่มีอยู่ปัจจุบันไม่สามารถป้องกันการหายไปของน้ำตาลในช่วงที่ราคาตลาดโลกสูงได้  วิธีการแก้ปัญหากลับสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นผู้บริโภคกลายเป็นผู้เสียประโยชน์อย่างจำยอม

  1. รัฐควรสนับสนุนอุตสาหกรรมทั้งระบบอย่างจริงจัง ด้วยอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลเป็นอุตสาหกรรมที่ศักยภาพในการสร้างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องได้อย่างมากมาย ฉะนั้นการกำหนดนโยบาย      กลยุทธ์และแนวทางต่าง ๆ  ควรคำนึงถึงผลกระทบต่อการส่งเสริมการเติบโตในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง

 

 

 

โดยเฉพาะอุตสาหกรรมด้านพลังงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมเอทานอล  ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าจากอ้อยและเพิ่มรายได้  ช่วยลดการนำเข้าพลังงาน

3. รัฐควรสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มกันในกลุ่มเกษตรกรรายย่อย ผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อให้มีอำนาจในการจัดหาทุน วัตถุดิบมาใช้ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลในตลาดอาเซียน