“ภูมิ” หนุ่มคณะวิศวะ สนใจในสิ่งชอบ!!! ฝึกทักษะในสิ่งที่ทำ ผลที่ได้คือ “ภารกิจสำเร็จ”

0
344
image_pdfimage_printPrint

นายสิปปกร ฉัตรจริยเวศน์ ชื่อเล่น “ภูมิ” จบจากโรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ถือว่าเป็นลูกหม้ออีกคนที่สนใจและชื่นชอบในเรื่องของหุ่นยนต์ ปัจจุบันกำลังศึกษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 1 ที่ มจพ. เช่นเดิม ด้วยบุคลิกของ“ภูมิ” จะเป็นเด็กหนุ่มตัวเล็กๆ หน้าใสๆ แต่ทว่าสีหน้าและแววตาบ่งบอกถึงความมุ่งมั่น เข้มแข็ง มีความมุ่งมั่นเดินไปข้างหน้า และพยายามหาความรู้จากแหล่งอื่นๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้นำมาเสริมทัพให้ตนเอง จากการที่ “ภูมิ” เป็นคนที่สนใจการสร้างหุ่นยนต์อยู่ก่อนแล้ว และรักษาความมุ่งมั่นตั้งใจไว้ได้ในระดับที่สามารถทำเรื่องยากๆ ได้มากขึ้น และเชื่อว่าการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องจะเป็นหนทางของความสำเร็จ เพราะผมก็อยากจะเป็นคนหนึ่งที่อยากประสบความสำเร็จแบบนั้น
เมื่อเข้ามาศึกษาต่อที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มจพ. ผมได้เข้าไปสัมผัสกับการสร้างหุ่นยนต์แบบเต็มๆ
บอกได้ว่าไม่ผิดหวังครับ “ได้ใช้ความรู้ที่เคยเรียนมานำมาประยุกต์ใช้ เช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ความรู้ทางคณิตศาสตร์ หรือทักษะทางช่าง” ที่เคยเรียนมาและได้ความรู้และทักษะเพิ่มอีกจากรุ่นพี่ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำหุ่นยนต์เราก็สามารถคิดแก้ไขในสถาการณ์จริงๆ มันทำให้ชีวิตการเรียนมีสีสันมากครับ เพราะก่อนที่ผมจะมาเรียนที่นี่ ผมศึกษาหาข้อมูลมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงด้านหุ่นยนต์และแน่นอนต้องไม่พ้นคำว่า “3 พระจอม” จากการเริ่มหาข้อมูลของแต่ละแห่งนั้น ยังมีหลายๆ คนที่แนะนำ โรงเรียนเตรียมวิศวกรรมศาสตร์ ไทย-เยอรมัน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่อยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ผมจึงมาเรียนที่มหาวิทยาลัยนี้ ตั้งแต่ตอนเรียน ปวช. ผมเข้าชมรมหุ่นยนต์ IPES มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับระบบไฟฟ้า ตอน ปวช. ปี 3 สร้างหุ่นยนต์ลงแข่งขันแล้วซึ่งมีรุ่นพี่ทำงานด้วย 3 คนตัวหลัก และมีรุ่นพี่จาก ทีมหุ่นยนต์ rescue มาช่วย ซึ่งตอนนั้นรายการแข่งขันหุ่นยนต์หุ่นยนต์ ส.ส.ท. ชิงแชมป์ประเทศไทย รอบคัดเลือกมาตรงกับช่วงที่ต้องสอบปลายภาค ทำให้ต้องแบ่งเวลาทั้งสอบและต้องมาสร้างหุ่นยนต์ให้เสร็จทันการแข่งขัน ณ ตอนนั้นบอกได้เลยว่าต้องสลับเวลากันมากๆ ในการเตรียมหุ่นยนต์ หุ่นยนต์มี 2 ตัว ต้องมีคนทำในทีม 2 คน คือ ผมกับรุ่นพี่ ซึ่งต้องใช้เวลาเกี่ยวกับเซ็ตระบบ และเรื่องไฟฟ้าของหุ่นยนต์ในภาพรวมทั้งหมด รู้เลยว่าการทำงานแข่งกับเวลานั้น มันเหนื่อยสุดๆ แต่มันได้ประสบการณ์ล้วนๆ สิ่งที่ได้คือ “ภารกิจสำเร็จ”
สำหรับรางวัลด้านหุ่นยนต์ที่ผมได้รับเป็นรองชนะเลิศอันดับ 2 รายการ TPA หุ่นยนต์สร้างสรรค์ และ
รายการ ABU ROBOCON เป็นรางวัลที่ภาคภูมิใจมาก ทำให้มีกำลังใจในการสร้างหุ่นยนต์อีกต่อไป ในมุมมองของผมๆ คิดว่าทักษะที่ได้มาจากการทำหุ่นยนต์ เราได้ประสบการณ์หลายๆ อย่างกลับมา เช่น การทำงานเป็นทีม การได้รู้จักกับพี่ๆ หรือเพื่อนๆ ที่สนใจในสิ่งเดียวกัน เราทุกคนไม่ได้เพียงแค่มุ่งหวังเงินรางวัลเท่านั้น แต่สิ่งที่ได้มันคือมิตรภาพจากคนรอบข้าง การมีไอเดียร่วมแสดงความคิดเห็นร่วมกัน เพื่อผลงานของทุกๆ คน ที่มีใจรัก รักที่สร้างหุ่นยนต์ อยากให้ทุกคนที่สนใจหรือชอบในหุ่นยนต์ ได้มาลองทำดูมาร่วมแชร์ประสบการณ์กัน
สิ่งที่ได้รับจากการสร้างหุ่นยนต์ คงเป็นการลงมือปฏิบัติจริง การแก้ปัญหาอย่างมีระบบ มีขั้นตอน ซึ่งทักษะที่ได้มาจากการสร้างหุ่นยนต์ยังได้ใช้ความรู้ที่เคยเรียนมานำมาประยุกต์ใช้ เช่น วงจรอิเล็กทรอนิกส์ ความรู้ทางคณิตศาสตร์ หรือทักษะทางช่างที่เคยเรียนมา และได้ความรู้และทักษะเพิ่มอีกจากรุ่นพี่ที่เขามีประสบการณ์จากขอบสนามการแข่งขันหรือปัญหาที่เกิดขึ้นจากการทำหุ่นยนต์ และประสบการณ์ที่ได้ คือการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องมีสติ ซึ่งประสบการณ์ที่ได้รับก็จะแตกต่างกันไป

อุปสรรคในการทำตอนแรกของผมก็คือ การทำให้หุ่นยนต์เดินซึ่งมันยาก เพราะระบบต้องอาศัยการออกแบบกลศาสตร์ ต้องคิดสมการ การเดิน ซึ่งยากต้องหาคนที่ทำโปรแกรมเมอร์มาช่วยดำเนินการ การประกอบก็ยากเนื่องจากเป็นหุ่นตัวเล็ก ทำให้การบัดกรีลำบาก การเข้ามุม โดยเฉพาะที่อยู่มุมอับทำลำบาก ต้องใช้ทดลองการลองผิดลองถูก มีการทดลองเลียนแบบการเดินของสัตว์ เช่น ม้า หมา เดินอย่างไร ดูการเดิน การจำลอง การเคลื่อนไหว เพื่อใช้ในการออกแบบ แต่มีอาจารย์นพดล เป็นอาจารย์ที่ปรึกษามาช่วยเสริมและแนะนำ จากหลายๆ ปีที่ได้เข้าร่วมการแข่งขันก็ตื่นเต้น หุ่นยนต์ทำใหม่ แต่ใช้มอเตอร์ตัวเดิม ใช้วัสดุเดิม ที่หาได้จากแหล่งวัสดุที่ “บ้านหม้อ คลองถม” และจากการลงมือปฏิบัติมาหรือที่เรียนมาได้ใช้งานจริงๆ กับการสร้างหุ่นยนต์คือ “การบัดกรี” ซึ่งมีการเรียนการสอนในการทำหุ่นยนต์
สำหรับผมยังไม่มีแผนเลยว่าเมื่อจบการศึกษาจะประกอบอาชีพใด ยังอยากลองเรียนรู้ การที่ผมมาเรียนต่อที่ มจพ. เนื่องจากมีความประทับใจ สภาพสังคม สาขาที่อยากเรียน และการเป็นอยู่ที่ไม่ต้องปรับตัวอะไรมาก และมีกิจกรรมที่ผมชื่นชอบ ผมจึงเรียนที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ต่ออีก เพราะชอบการสนับสนุนการแข่งขัน การสร้างทีมและการร่วมทีมกับรุ่นพี่ที่มีความชอบเหมือนกัน มีคติการทำงานในทีมคือ ชอบเรื่องไฟฟ้า ทำหุ่นยนต์มีระบบไฟฟ้าซับซ้อน จึงสนใจร่วมทีมหุ่นยนต์และอยากทำงานด้านหุ่นยนต์นี้ต่อไป
การที่จะประสบความสำเร็จไม่ได้มีอะไรพิเศษกว่าคนอื่น แต่อาศัยว่าเป็นคนที่ใฝ่หาความรู้ และขยันสร้างความชำนาญ สร้างทักษะใหม่ ๆ การเรียนรู้ตลอดเวลาเพื่อให้ตัวเองก้าวไปสู่ประสบความสำเร็จในภารกิจที่รับผิดชอบ และการได้มาเจอกับเพื่อนๆ เรียนรู้กระบวนการทำงานร่วมกันทำให้ได้รู้จักตัวเองว่าหลายๆ อย่างเราทำได้ และเหตุการณ์ที่เข้ามาในชีวิตนั้นเพื่อบ่งบอกถึงความเป็นตัวตนเฉพาะ เกิดแง่คิดที่ดี มีความสุขในการทำงาน มีทัศนคติและพลังในการทำงาน สนุกกับสิ่งที่ตัวเองทำ และมีแรงผลักดันในการทำงานเพื่อให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด…..
ขวัญฤทัย ข่าวภาพ