ฟันธงประมูลรถเอ็นจีวี. ล้มราคาถูกไม่สะใจใครบางคน

0
217
image_pdfimage_printPrint

ฟันธงประมูลรถเอ็นจีวี. ล้มราคาถูกไม่สะใจใครบางคน

สัปดาห์ที่ผ่านมา ขสมก.และกรมการขนส่งทางบก โชว์กึ้นปฏิรูปรถเมล์ ยุค 4.0 ได้สับสน….สาสมใจ ประชาชนคนโหนรถเมล์จริงๆ
พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงภายหลังประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 ว่า คสช.ได้หารือเรื่องการปฏิรูปรถโดยสารในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เป็นปัญหาค้างคามานาน ไม่ว่าจะเป็นการเดินรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.) หรือรถร่วมบริการ นอกเหนือจากการให้บริการประชาชนที่ดีแล้ว

หมายเลขสายของรถที่อาจจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงใหม่ คงทำให้ประชาชนอาจเกิดความสับสนในการเดินทาง ขสมก. ยังไม่ได้ทำแผนที่ชัดเจนกับประชาชน คสช.ยังไม่เชื่อมั่นว่า ทุกอย่างจะลงตัว จึงขอให้กลับไปทำแผนมาให้ชัดเจน แล้วสร้างการรับรู้เป็นระยะๆ.

แต่ผลลัพธ์ที่ปรากฏตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคมที่ผ่านมา เละตุ้มเป๊ะ แม่นราวกับตาเห็นเป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าคือ ความสับสนอลหม่านของประชาชนคนโหนรถเมล์

การปฏิรูปรถเมล์วันนี้แสดงธาตุแท้ของผู้บริหาร ขสมก.จริงๆ สรุปสั้นๆ คนขึ้นรถเมล์อยากได้รถเมล์ดี จอดทุกป้าย ไม่แซงซ้ายปาดขวา ไม่ไล่ผู้โดยสารลงกลางถนน รถวิ่งระยะทางยาวเพื่อจะไม่ต้องจ่ายค่ารถหลายต่อ รถมาตรงเวลา กระเป๋ากับคนขับไม่เหน็บแนมผู้โดยสาร ฯลฯ

แต่ ขสมก.ไม่ทำเรื่องนี้ ไปทำเรื่องเปลี่ยนชื่อรถ เปลี่ยนสีรถ ตั้งชื่อสายรถเมล์เป็นภาษาอังกฤษหัวท้าย ซึ่งทั้งหมดไม่เกี่ยวเลยกับการปรับปรุงบริการเพื่อประชาชน

คำถามมีว่า….ประชาชนได้ประโยชน์ตรงไหน?

ซ้ำร้ายเมื่อเปิดเว็บไซต์ ขสมก. ก็ยิ่งชี้ชัดว่า ขสมก.ไม่เคยแก้ไขการให้บริการที่ดีแก่ประชาชน ในเว็ปไซต์พบ ว่าประชาชนคนโหนรถเมล์ไม่พอใจการให้บริการของ ขสมก. มีเรื่องร้องเรียนมากกว่า 1,700 เรื่อง สะท้อนให้เห็นว่า ขสมก.ต้องปรับปรุงคุณภาพ และการบริการ ไม่ใช่เปลี่ยนชื่อสายรถเมล์เพี้ยนๆแบบนี้

พักเรื่องผู้บริหาร ขสมก.ยุค 4.0 ไว้ก่อน หากยังจำได้ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้แถลงต่อสื่อมวลชนว่า ครม.เห็นชอบมาตรการสวัสดิการสำหรับผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนในโครงการเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 โดยสวัสดิการเบื้องต้น ได้แก่ รถเมล์-รถไฟฟรี, การลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า, การซื้อสินค้าในร้านธงฟ้า เป็นต้น โดยจะใช้งบประมาณราว 4 หมื่นล้านบาท และจะเริ่มมอบสวัสดิการดังกล่าวผ่านบัตรผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้

นั่นหมายความว่า โครงการรถเมล์ฟรีจะสิ้นสุดลงในวันที่ 30 กันยายนนี้ และในวันที่ 1 ตุลาคม คณะรัฐมนตรีและ คสช.จะมอบบัตรให้แก่ผู้มีรายได้น้อยได้ใช้แทนเงินสดโดยเฉพาะการใช้สอยและการเดินทางประจำวัน

นับเป็นผลงานที่ต้องจารึกไว้บนแผ่นดินไทยว่า รัฐนาวาภายใต้การบริหารของ พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา ได้สร้างผลงานครั้งประวัติศาสตร์ใส่ใจประชาชนคนไทยผู้มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง

แต่ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า ความปรารถนาของท่านนายกฯอาจไปไม่ถึงฝั่งฝัน ไม่สมราคาคุยของนายพิชิต อัคราทิตย์ รมช.คมนาคมกับนายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดคมนาคม ที่เคยแถลงไว้ในวันลงนามสัญญาเช่าระบบบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์พร้อมอุปกรณ์ อีทิคเก็ต จำนวน 2,600 คัน วงเงิน 1,665 ล้านบาทระยะสัมปทาน 5 ปี กล่าวออกหน้าแทน ผู้ชนะประมูลจะต้องดำเนินการติดตั้งให้ครบ 800 คันให้แล้วเสร็จเพื่อรองรับการใช้บัตรผู้มีรายได้น้อยที่รัฐบาลจะเริ่มต้นโครงการในวันที่ 1 ตุลาคมนี้

จากการสำรวจการรถไฟแห่งประเทศไทย ติดตั้งแล้วพร้อมใช้ระบบแล้ว แต่ที่ ขสมก. วันนี้ออกอาการร่อแร่ได้ข่าวแว่วๆว่ายังติดตั้งได้ไม่ถึง 100 คัน เหลือเวลาอีกไม่ถึง 40 วันเป็นไปได้หรือที่จะเป็นไปตามเป้าคือ 800 คัน ผลงานระดับมาสเตอร์พีชของ คสช.อาจล้มไม่เป็นท่า ดับฝันนายกฯลงกลางคัน

เรื่องต่อมาเป็นเรื่องขบวนการปล่อยข่าวโจมตีกรณีบริษัท เบสทริน กรุ๊ป จำกัดเข้าร่วมวงซื้อซองประกวดจัดซื้อรถเอ็นจีวี. 489 คัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง แบล็คลิส ที่นายสมศักดิ์ ห่มม่วง ประกาศให้เบสทรินเป็นผู้ทิ้งงาน แต่ภายหลังอนุกรรมการฝ่ายกฎหมายของกระทรวงคมนาคมเอง ออกมาฟันธงว่า เบสทรินไม่ใช่เป็นผู้ทิ้งงาน เพราะมีรถครบจำนวนตามสัญญาแต่ติดขัดด้านภาษีเป็นคดีความระหว่างผู้นำเข้าบริษัทซุปเปอร์ซาร่าจำกัดกับกรมศุลกากร

แถมนายสมศักดิ์ ห่มม่วง ในฐานะรักษาการ ผอ.ขสมก.ผู้เร่งรีบแถลงออกสื่อประกาศให้เบสทรินเป็นผู้ทิ้งงานนั้นดำเนินการผิดขั้นตอน ถูกฝ่ายกฎหมายของบริษัทเบสทริน ยื่นฟ้องตามมาตรา 157 เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทำให้ได้รับความเสียหายไปแล้ว

สกู๊ปหน้า 1 ฟันธงว่า การประมูลครั้งล่าสุดนี้ ที่กำหนดราคากลางไว้ที่ 3,389,710,819.50 บาท คงต้องล้มลงสมตามเจตนาของใครหลายคน เนื่องจากราคากลาง 3 พันกว่าล้านเป็นราคาที่ขัดใจใครต่อใครหลายๆคนที่คาดหวังกับจำนวนเงินส่วนต่างกว่า 600 ล้านบาท พยายามใช้ทุกวิถีทางดันราคากลางขึ้นไปเกินกว่า 4,000 ล้านบาท ทั้งๆที่รู้ว่าผิดหลักเกณฑ์ที่ ปปช.กำหนด

แต่การที่ต้องยอมเปิดประมูลด้วยราคาที่เบสทรินชนะในราคา 3 พันกว่าล้านในครั้งนี้ ก็เพื่อหาเหตุจำเป็นแย้งไปที่ ปปช.ยอมให้ขึ้นราคากลางไปที่ 4 พันกว่าล้านให้ได้ พยายามปั้นประเด็นรับส่งลูกกันเป็นทีมระดับชั้นหาเหตุว่า ราคานี้ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะมีผู้เข้าร่วมประมูล

นายสุนทร ชูแก้ว ทีมกฎหมายผู้รับมอบอำนาจจากบริษัทเบสทริน เปิดประเด็นว่า ขสมก.หรือใครก็ตามที่กำลังใช้ความพยายามผลักดันราคากลางรถเอ็นจีวี. 489 คันที่กำลังจะมีการประมูลจาก 3 พันกว่าล้านเป็น 4 พันกว่าล้าน ขอเรียนว่าราคาที่เบสทรินชนะนั้น เป็นราคาที่รวมภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆครบถ้วนแล้ว ขสมก.ภาครัฐไม่มีความจำเป็นต้องซื้อรถเมล์แพงไปมากกว่านี้

นายสุนทรกล่าวต่อไปว่า ขอตั้งคำถามที่ผู้บริหาร ขสมก.และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ต้องตอบประชาชนคนโหนรถเมล์ให้หายคาใจคือ
1.ถ้าผลการประมูลตามราคากลาง 3 พันกว่าล้านครั้งนี้ มีอันต้องล้มลงจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม

ขสมก.จะทำอย่างไรต่อไป?

2.ถ้าเป็นไปตามคาด ขสมก.จะเร่งผลักดันให้เปิดประมูลขึ้นมาอีกครั้ง แล้วอ้างเหตุกับสังคมว่าราคากลาง 3.3 พันล้านต่ำเกินไปไม่ถูกใจใครบางคน จึงขอกำหนดราคากลางใหม่ที่ 4 พันกว่าล้านตามเป้าที่วางไว้ แล้วสมมุติบริษัทเบสทรินเป็นผู้ชนะการประมูลในราคา 3.5 พันล้าน หรือ 3.8 ล้าน จะเป็นเรื่องน่าแปลกที่สุด ที่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยหรือไม่ ที่ราคา 3.3 พันล้าน ขสมก.ไม่ซื้อ แต่จะซื้อที่แพงกว่า
3.ถ้าการประมูลสำเร็จมีผู้ชนะการประมูลไปแล้ว สมมุติว่าวันนึงข้างหน้าศาลตัดสินเด็ดขาดให้เบสทรินชนะคดี ขสมก.จะทำอย่างไร?กับรถ 489 คันที่ปฏิเสธไม่ยอมตรวจรับ
4.สมมุติว่าผู้ชนะการประมูลเป็นรถยี่ห้อดังจากประเทศญี่ปุ่น แล้วทำสัญญากับ ขสมก.ระบุว่าจะเป็นรถประกอบขึ้นที่อินโดนีเซียเพื่อใช้สิทธิตามสนธิสัญญาอาเซี่ยนปลอดภาษี แต่กลับนำรถเข้าทั้งคันจากญี่ปุ่น ขสมก.จะปฏิเสธการตรวจรับรถหรือไม่?
คำถามเหล่านี้ ยังคงเฝ้าวนเวียนถาม ขสมก.อยู่ร่ำไปจนกว่า ศาลจะตัดสินหรือจนกว่าจะได้คำตอบจาก ใครบางคน…… คนที่ต้องการซื้อรถเมล์เอ็นจีวี.ในราคา 4 พันล้าน