ปส. ร่วมประชุมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค

0
487
image_pdfimage_printPrint

ประเทศไทย โดยสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เข้าร่วมประชุมประจำปี ครั้งที่ ๔๐ ของผู้แทนประเทศสมาชิกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคสำหรับการวิจัย พัฒนา และการฝึกอบรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค (Regional Cooperative Agreement for Research, Development and Training Related to Nuclear Science and Technology for Asia and the Pacific : RCA) ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ตั้งแต่วันที่ ๒๖ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑

ดร. พิภัทร พฤกษาโรจนกุล รักษาการผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานปรมาณู สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เข้าร่วมประชุมประจำปี ครั้งที่ ๔๐ ของผู้แทนรัฐสมาชิกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคสำหรับการวิจัย พัฒนา และการฝึกอบรมในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค (The 40th Regional Meeting of the National RCA Representatives) ซึ่งจัดขึ้น ณ เมืองปูซาน สาธารณรัฐเกาหลี ตั้งแต่วันที่ ๒๖ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๑ โดยข้อตกลง RCA นี้ เป็นข้อตกลงระหว่างรัฐบาลของประเทศในแถบภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิค ปัจจุบันมีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น ๒๒ ประเทศ ประกอบด้วย ออสเตรเลีย บังคลาเทศ กัมพูชา จีน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย เมียนมาร์ เนปาล นิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาเลา ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ศรีลังกา เวียดนาม และประเทศไทย ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน เพื่อวางโครงสร้างแนวทางการดำเนินงาน และประสานความร่วมมือในระดับภูมิภาคด้านการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งกำหนดกรอบ และกฎระเบียบที่จำเป็นต่อการควบคุมดูแลความร่วมมือดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีนิวเคลียร์

ดร. พิภัทร ในฐานะผู้ประสานงานหลักของประเทศไทยกับทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ ได้รับมอบหมายให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ เพื่อรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของประเทศไทยในรอบปีที่ผ่านมา และนำเสนอแผนปฏิบัติงานสำหรับรอบปี พ.ศ. ๒๕๖๑ พร้อมหารือแนวทางการบริหาร การพัฒนาการดำเนินงานด้านเทคโนโลยีนิวเคลียร์ในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิคอย่างมีประสิทธิภาพ และมีผลสัมฤทธิ์ ตามนโยบาย และยุทธศาสตร์ของข้อตกลง RCA การเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้นับเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และเป็นเวทีในการนำเสนอศักยภาพการดำเนินงานของประเทศไทยภายใต้กรอบข้อตกลงดังกล่าว ในสาขาต่างๆ ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมในการประสานความร่วมมือและแลกเปลี่ยน ถ่ายทอดเทคโนโลยีต่างๆ กับประเทศสมาชิก อันจะเป็นการตอบโจทย์ด้านการนำเทคโนโลยีนิวเคลียร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านการศึกษาวิจัย และการพัฒนาเศรษฐกิจในภูมิภาคอย่างยั่งยืน