งานสัมมนาเชิงวิชาการ เรื่อง “มาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงาน(Standard Offer Programme)” จัดโดยโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน และองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)

0
279
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพ 18 มิถุนายน 2556สำนักงานนโยบายและแผนพลังงานร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง มาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงาน(Standard Offer Programme)” ภายใต้โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมัน ตามแผนอนุรักษ์พลังงาน ร่วมผลักดันนโยบายอนุรักษ์พลังงานและวางยุทธศาสตร์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายให้ได้ตามเป้าหมายลดความเข้มการใช้พลังงานลงร้อยละ 25 ในปี 2573

 

นายสุเทพ เหลี่ยมศิริเจริญ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่าโครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (TGP-EEDP) มีวัตถุประสงค์หลักที่จะสนับสนุนการบูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เพื่อผลักดันนโยบายอนุรักษ์พลังงานให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรมในภาคอุตสาหกรรมและภาคอาคารธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก การจัดงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “มาตรการอุดหนุนผลการประหยัดพลังงาน (Standard Offer Programme: SOP)” จึงถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการฯ ที่ดำเนินไปในแนวทางที่สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน 20 ปีโดยมีเป้าหมายในการลดความเข้มข้นของการใช้พลังงานลงร้อยละ 25 ในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2553 ทั้งนี้ SOP เป็นแนวทางหนึ่งภายใต้มาตรการการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อสนับสนุนให้เกิดผลการประหยัดพลังงานสำหรับธุรกิจรายย่อย (SMEs) ในภาคอาคารและอุตสาหกรรม ที่มีข้อจำกัดด้านการลงทุนและบุคคลากร ซึ่งหากผลักดันมาตรการดังกล่าวสู่การปฏิบัติ จะเป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินการอนุรักษ์พลังงานอย่างจริงจัง และคาดว่าจะสามารถลดการใช้พลังงานในอาคารและโรงงานขนาดย่อมได้ประมาณ 5,800 ktoe* ตามสมมติฐานที่ได้กำหนดไว้ในแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี (*ktoe = พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ)

 

ในงานสัมมนาเชิงวิชาการครั้งนี้ โครงการฯ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเพื่อบรรยายแนวทางปฏิบัติ ประสบการณ์ และบทเรียนของการดำเนินมาตรการ SOP ในต่างประเทศอีกด้วย ดังนั้น การสัมมนาเพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับ SOPในครั้งนี้นับเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สนพ. ในฐานะผู้จัดทำนโยบายอนุรักษ์พลังงาน ที่จำเป็นต้องศึกษามาตรการ วิธีดำเนินการ อัตราการชดเชย และเงื่อนไขในการรับการสนับสนุน ตลอดจนวิธีการวัดผลประหยัดที่เหมาะสมกับประเทศไทย

 

ด้านดร. มิลู  เบรึโพท รักษาการผู้อำนวยการโครงการฯ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) ได้กล่าวว่าการจัดงานสัมมนามาตรการ SOP ครั้งนี้ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาเครื่องมือด้านการอนุรักษ์พลังงาน เป็นมาตรการสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการประหยัดพลังงานสำหรับผู้ใช้รายย่อย และอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติการอนุรักษ์พลังงาน โครงการฯ ได้เชิญนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์การดำเนินมาตรการ SOP ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา เยอรมนี เดนมาร์คและประเทศอื่นๆ นับเป็นโอกาสอันดีที่ผู้เข้าร่วมจะได้อภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเรื่องแนวทางการพัฒนารูปแบบมาตรการ SOP ที่เหมาะสมกับประเทศไทย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนมาตรการดังกล่าวสำหรับประเทศไทยต่อไป

…………………………………………….

ข้อมูลโครงการ

โครงการความร่วมมือไทย-เยอรมันตามแผนอนุรักษ์พลังงาน (TGP-EEDP) เป็นโครงการที่องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ได้รับทุนสนับสนุนจากกระทรวงสิ่งแวดล้อม คุ้มครองธรรมชาติและความปลอดภัยทางปรมาณูแห่งสหพันสาธารณรัฐเยอรมนี (BMU) เพื่อส่งเสริมการทำงานภายใต้แผนอนุรักษ์พลังงาน โดยร่วมมือกับสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ตลอดจนมีสถาบันวิจัยทั้งในและต่างประเทศ ได้แก่ บัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE)มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบัน Wuppertal ประเทศเยอรมนี โครงการฯ มีวัตถุประสงค์หลักที่จะสนับสนุนการบูรณาการแผนอนุรักษ์พลังงาน 20 ปี เพื่อผลักดันนโยบายอนุรักษ์พลังงานให้สามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคอาคารธุรกิจซึ่งจะส่งผลให้เกิดการลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก

…………………………………..

องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน หรือ GIZ เป็นองค์กรของสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ที่ปฏิบัติงานในนามของรัฐบาลเยอรมันเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนและร่วมมือด้านการศึกษากับนานาประเทศ GIZ ยังปฏิบัติภารกิจในนามของรัฐบาลของประเทศต่างๆ และองค์กรนานาชาติ อาทิ สหภาพยุโรป องค์การสหประชาชาติ ธนาคารโลก ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย รวมทั้งบริษัทเอกชนต่างๆ