กรมป่าไม้สนับสนุน ป่าชุมชนบ้านสบยาว ตามวิถี “วนประชารัฐ”

0
324
image_pdfimage_printPrint

13475044_1743314459213430_4521729528948393238_o

ป่าชุมชนบ้านสบยาว ตั้งอยู่ห่างจากชุมชน ประมาณ 1.50 กิโลเมตร มีสภาพเป็นป่าเต็งรัง อยู่ใน เขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่น้ำน่านฝั่งตะวันออกตอนใต้ เนื้อที่ 6,839 ไร่ แบ่งเป็นเขตพื้นที่ป่าเพื่อการอนุรักษ์ 1,839 ไร่ และพื้นที่ป่าเพื่อการใช้สอย 5,000 ไร่ ชุมชนได้ร่วมกันดูแลรักษาป่า และได้ใช้ประโยชน์จากป่าชุมชน เป็นแหล่งอาหารตามฤดูกาล เช่น เห็ด หน่อไม้ พืชสมุนไพร ชัน และอื่นๆ ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นแหล่งต้นน้ำ แหล่งกักเก็บน้ำและปลดปล่อยน้ำสูลำห้วยในชุมชน เพื่อนำไปใช้อุปโภค บริโภค
นายประลอง ดำรงค์ไทย รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ป่าชุมชนบ้านสบยาวมีต้นเต็งเป็นไม้ดั้งเดิมของป่าแห่งนี้ เต็งจัดเป็นพรรณไม้ยืนต้นผลัดใบขนาดเล็กถึงขนาดกลาง มีความสูงประมาณ 10-30 เมตร เปลือกต้นด้านนอกเป็นสีเทา แตกร่อน และเป็นสะเก็ดหนา มักตกชัน (ยางไม้) สีเหลืองขุน ขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเมล็ด มีเขตการกระจายพันธุ์เป็นกลุ่มใหญ่ในป่าเต็งรัง ดินลูกรัง และเขาหินทราย ประโยชน์ ของไม้เต็ง สามารถนำชันจากต้นเต็งใช้ผสมน้ำมันทาไม้ ใช้ยาแนวเรือ เครื่องใช้ต่างๆ เปลือกต้นใช้เป็นยาสมานแผล ห้ามเลือด รักษาแผลเรื้อรังและแผลพุพองให้สมานตัวเร็ว เนื้อไม้สีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลแกมแดง สามารถนำไปใช้ในงานก่อสร้างที่ต้องการความแข็งแรงทนทานได้ดี เช่น เสา รอด ตง ขื่อ พื้นกระดาน โครงเรือเดินทะเล ไม้หมอนรถไฟ ชาวบ้านจึงได้ใช้ประโยชน์จากการเก็บชันยางไม้จากต้นเต็งที่ขึ้นอยู่ใน ป่าชุมชนแห่งนี้เป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวบ้านสามารถหาชันในป่าชุมชนได้ตลอดทั้งปี แต่ชาวบ้านจะเข้าป่าไปเก็บหากันมากในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งใบไม้ร่วงง่ายแก่การเก็บหาและเป็น ช่วงว่างเว้นจากกาทำการเกษตร โดยจะเก็บได้วันละประมาณ 10-20 กิโลกรัม ราคากิโลกรัมละ 23-25 บาท มูลค่าการเก็บชันในชุมชนมากถึง 350,000 บาทต่อปี ซึ่งเป็นรายได้เสริมเพิ่มให้กับชาวบ้านได้อีกทางหนึ่ง
รองอธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า ป่าชุมชนบ้านสบยาว ได้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนตามแนวทางของกรมป่าไม้ ซึ่งเป็นรูปแบบ “วนประชารัฐ” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2543 และได้รับเงินอุดหนุนจากกรมป่าไม้ เมื่อปี พ.ศ. 2558 จำนวน 147,000 บาท โดยดำเนินการ ดังนี้ 1. กิจกรรมด้านการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ นำไปจัดทำป้ายชื่อโครงการป้ายกฎระเบียบป่าชุมชน และป้ายแนวเขตป่าชุมชน การจัดซื้อเครื่องเสียงประชาสัมพันธ์ 2. กิจกรรมด้านการดูแลรักษาป่าชุมชน โดยทำเส้นทางตรวจการณ์ จัดซื้อชุดตรวจลาดตระเวนป้องกันรักษาป่าชุมชน และการจัดชุดลาดตระเวนป้องกันรักษาป่า 3. กิจกรรมด้านการบำรุงและฟื้นฟูป่าชุมชน ได้แก่ การสร้างฝายชะลอความชุมชื้น การปลูกป่าเสริม เช่น การปลูกผักหวานป่า และ 4. กิจกรรมด้านการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้แก่ การบวชป่าและสืบชะตาป่าชุมชน