กรมป่าไม้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่แก้ปัญหาเขาหัวโล้น

0
358
image_pdfimage_printPrint

IMG_1877

กรมป่าไม้นำสื่อมวลชนลงพื้นที่แก้ปัญหาเขาหัวโล้น พื้นที่นำร่องป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้และป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด บ.น้ำป้าก ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา จ.น่าน ที่ถูกบุกรุกถึงร้อยละ 25 ของพื้นที่ป่า ก่อนสำรวจแนวเขตป่าเพื่อทำการขอพื้นที่คืนเพื่อฟื้นฟูโดยการสร้างฝายแม้ว ปลูกป่าเปียก ปลูกแฝกชะลอการกัดเซาะของดิน จัดหาที่ดินให้ชาวบ้านตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ก่อนพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนสามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ
เมื่อวันที่ 4 ก.ย.58 กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่เพื่อติดตามการจัดการป่าต้นน้ำเสื่อมสภาพบนพื้นที่สูงชัน(เขาหัวโล้น) ใน จ.น่าน ซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องในการแก้ปัญหา ที่ป่าฝั่งขวาแม่น้ำน่านตอนใต้และป่าน้ำยาวและป่าน้ำสวด บ.น้ำป้าก ต.ตาลชุม อ.ท่าวังผา จ.น่าน ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการในระยะเร่งด่วน ปี 2558 – 2559 โดยมีภารกิจ 4 ด้าน คือ 1.สร้างความเข้าใจ 2.จัดระเบียบพื้นที่ 3.ป้องกันและรักษาป่า และ4.ฟื้นฟูระบบนิเวศ ทั้งนี้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การคุกคามป่าต้นน้ำในพื้นที่ต่างๆ อยู่ในขั้นรุนแรง โดยเฉพาะพื้นที่ 13 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ น่าน เชียงราย ตาก แม่ฮ่องสอน เพชรบูรณ์ พิษณุโลก พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ ลำปาง ลำพูน และเลย จากข้อมูลของกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ระบุว่า ทั้ง 13 จังหวัด มีป่าต้นน้ำถูกบุกรุกจนกลายเป็นเขาหัวโล้น ถึง 8.6 ล้านไร่ โดยเฉพาะ จ.เลย มีพื้นที่ถูกบุกรุก 1,076,089.70 ไร่ หรือร้อยละ 28.09 ของพื้นที่ป่าในจังหวัด จ.น่าน มีพื้นที่ถูกบุกรุก 1,180,859.49 ไร่ และ จ.เชียงใหม่ มีพื้นที่ถูกบุกรุก 1,103,499.54 ไร่ ขณะที่จำนวนผู้บุกรุกใน 13 จังหวัด พบว่ามีอยู่ประมาณ 1 แสนคน โดยร้อยละ 80 เป็นชาวไทยบนพื้นที่สูง ร้อยละ 10 เป็นชาวไทยพื้นที่ราบ และอีกร้อยละ 10 เป็นกลุ่มนายทุน นอกจากนี้ ยังพบข้อมูลสำคัญว่า พื้นที่ที่ถูกบุกรุก ถูกนำไปทำการเกษตร อาทิ ข้าวโพด ร้อยละ 60 ยางพารา ร้อยละ 30 ส่วนอีกร้อยละ 10 เป็นพืชอื่นๆ เช่น อ้อย มันสำปะหลัง กะหล่ำปลี โดยกระทรวงทรัพยากรฯ ได้กำหนดให้นำร่องฟื้นฟูแก้ปัญหาใน 2 จังหวัดนำร่อง คือ น่าน และ เชียงใหม่ โดย จ.น่าน เบื้องต้น กรมป่าไม้จะมีการเปิดเวทีประชาคมหมู่บ้านสร้างทำความเข้าใจกับผู้นำชุมชนให้ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหาเขาหัวโล้นและจะมีการสร้างผู้นำในการสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เป้าหมาย ขณะเดียวกันจะมีการตรวจสอบแนวเขตป่า ตรวจสอบวิถีชีวิต จำนวนครัวเรือน/คนและพื้นที่ทำกินที่อยู่ในพื้นที่ป่าร่วมกับ
กระทรวงมหาดไทย เมื่อได้ตัวเลขแน่ชัดจะมีการขอพื้นที่คืนเพื่อจัดระเบียบการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ นั่นก็คือการฟื้นฟู ส่วนประชาชนที่มีการบุกรุกจะมีการจัดที่ดินทำกินให้ชุมชนตามนโยบายคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ(คทช.) ต่อไป เพื่อไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน
กรมป่าไม้ ได้วางแนวทาง 7 ยุทธศาสตร์ เพื่อแก้ปัญหาเขาหัวโล้น ประกอบด้วย 1.สร้างความเข้าใจแก่ทุกภาคส่วน 2.จัดระเบียบคนและพื้นที่ 3.ป้องกันและรักษาป่า 4.ฟื้นฟูระบบนิเวศ 5.พัฒนาและส่งเสริมอาชีพ 6.สร้างองค์ความรู้ในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 7.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพื่อทวงคืนป่ากลับมาให้ได้ร้อยละ 60-70 ของพื้นที่ป่าที่ถูกบุกรุกทั้งหมด เพื่อฟื้นคืนสภาพกลับเป็นป่าต้นน้ำ ส่วนที่เหลือจะจัดสรรทำป่าชุมชนร้อยละ 20 และทำป่าเศรษฐกิจชุมชนร้อยละ 20 โดย จ.น่าน มีการบุกรุกป่าต้นน้ำร้อยละ 25 ของพื้นที่ป่า” นายธีรภัทร กล่าว
อธิบดีกรมป่าไม้ กล่าวต่อว่า จากนั้นกรมป่าไม้ จะดำเนินการป้องกันและรักษาป่า โดยจะมีการเฝ้าระวังลาดตระเวนทางพื้นดิน ลาดตระเวนทางอากาศ เฝ้าตรวจด้วยภาพถ่ายดาวเทียม ที่สำคัญจะมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ตาม มาตรา 25 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ และดำเนินคดีตามกฎหมายกับผู้บุกรุกป่าต้นน้ำ ส่วนการฟื้นฟูสภาพเขาหัวโล้น จะมีการสร้างฝายกึ่งถาวร ปลูกฟื้นฟูป่า ปลูกป่าเปียก ปลูกแฝกชะลอการกัดเซาะพังทลายของดิน และจะมีการจัดตั้งป่าชุมชน ตามมาตรา 19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติและอนุญาตให้ปลูกป่าเศรษฐกิจชุมชน ตามมาตรา 20 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนและชุมชนในพื้นที่สูงให้สามารถอยู่ได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนตามแนวทางพระราชดำริ รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินการสร้างป่าสร้างรายได้ ทั้งจะมีการให้ความรู้เพื่อการพัฒนาการเกษตรที่สร้างรายได้สูงใช้พื้นที่น้อย ส่งเสริมและให้ความรู้เพื่อการพัฒนาการประกอบอาชีพนอกภาคเกษตร ที่สำคัญจะมีการส่งเสริมช่องทางการกระจายสินค้าที่เหมาะสมกับการตลาดในช่วงระยะเวลาต่างๆ ร่วมกับภาคเอกชน ส่งเสริมการรวมกลุ่มในรูปสหกรณ์และจัดหาแหล่งทุนสนับสนุน
“ปัญหาเขาหัวโล้นเป็นปัญหาที่กระทบต่อวิถีชีวิตของคนไทยบนพื้นที่สูง ดังนั้นในการแก้ไขปัญหา กรมป่าไม้ต้องนำทั้งหลักนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์มาดำเนินการควบคู่กัน รวมทั้งได้ยึดแนวพระราชดำริ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่อง “คนอยู่ร่วมกับป่า” เพื่อเปลี่ยนราษฎรจากผู้บุกรุกทำลายมาเป็นผู้อนุรักษ์ และส่งเสริมให้ราษฎรมีส่วนร่วมดูแลและจัดการทรัพยากรป่าด้วยตนเอง ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหา” อธิบดีกรมป่าไม้ระบุ