กฟผ. และ GIZ ลงนามสัญญาให้ทุน 320 ล้านบาท ผนึกกำลังสนับสนุนเทคโนโลยีประสิทธิภาพพลังงานสูงและสารทำความเย็นที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

0
281
image_pdfimage_printPrint

กรุงเทพฯ, 20 ธันวาคม 2560 – การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) จัดพิธีลงนามสัญญาให้ทุน ภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA)

โครงการ RAC NAMA ถือเป็นโครงการแรกในประเทศไทยที่ได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน NAMA Facility ด้วยงบประมาณรวมทั้งสิ้น 14.7 ล้านยูโร (ประมาณ 565 ล้านบาท) โดยมอบหมายให้ GIZ ดำเนินงานร่วมกับรัฐบาลไทย ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ในการนี้เงินทุนจำนวน 8.3 ล้านยูโร (ประมาณ 320 ล้านบาท) จากเงินงบประมาณโครงการ 14.7 ล้านยูโร จะถูกจัดสรรและตั้งเป็นกองทุน“RAC NAMA Fund” โดยมีกฟผ. เป็นผู้รับทุนในนามประเทศไทยและดำเนินมาตรการจูงใจทางการเงินในฐานะผู้จัดการเงินทุนโครงการเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย เนื่องด้วยกฟผ. เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมทั้งด้านบุคลากรและองค์ความรู้จากประสบการณ์ในการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกและการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงโครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ที่ช่วยรณรงค์ให้ประชาชนใช้ไฟฟ้าอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพมากว่า 20 ปี

นายกฎชยุตม์ บริบูรณ์จตุพร รองผู้ว่าการพัฒนาโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวในพิธีลงนามว่า “กฟผ. รู้สึกเป็นเกียรติเป็นอย่างยิ่งในฐานะผู้รับทุนในนามของประเทศไทยและผู้บริหารกองทุน RAC NAMA เนื่องด้วยกฟผ. มีนโยบายหลักในการผลิตไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการเพื่อความสุขของประชาชนควบคู่กับความมุ่งมั่นในการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการส่งเสริมการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โครงการ RAC NAMA นอกจากจะช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามแผนอนุรักษ์พลังงานของประเทศแล้ว ยังมีส่วนผลักดันให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้แสดงเจตจำนงและตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศที่ร้อยละ 7-20 ภายในปี พ.ศ. 2563 และที่ร้อยละ 20-25 ภายในปี พ.ศ. 2573 เมื่อเทียบกับกรณีฐานปกติ โดยประเทศสามารถขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากต่างประเทศในด้านงบประมาณ การสร้างเสริมศักยภาพ และเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีประสิทธิภาพพลังงานสูงสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กฟผ. ‘นวัตกรรมพลังงานไฟฟ้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ หรือ ‘Innovation Power Solutions for a Better Life.’”

นอกจากนี้ นายกฎชยุตม์ ยังเน้นย้ำว่า กฟผ. เองตั้งเป้าที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกที่ 4 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2563 และที่ 10 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี พ.ศ. 2573 อันจะมีส่วนช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่ได้แสดงเจตจำนงไว้กับประชาคมโลกต่อไป

มร.ทิม มาเลอร์ ผู้อำนวยการโครงการฯ GIZ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า “เงินสนับสนุนจากกองทุน RAC NAMA Fund จำนวน 8.3 ล้านยูโรนี้ จะใช้ในการดำเนินมาตรการจูงใจทางการเงินทั้งในรูปแบบเงินอุดหนุน (Sub-Grants) และเงินทุนหมุนเวียน (Revolving Scheme) เพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้เครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นที่มีประสิทธิภาพสูงและใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้แก่ผู้ผลิตและผู้ซื้อระดับครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงภาคบริการ เช่น การฝึกอบรมและการทดสอบอุปกรณ์ ดังนั้น กองทุน RAC NAMA Fund ถือเป็นโอกาสและทางเลือกสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีสีเขียวควบคู่กับการพัฒนาขีดความสามารถด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของประเทศไทย”

กองทุนระหว่างประเทศ NAMA Facility ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ 2555 มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาที่มีศักยภาพในการดำเนินโครงการเพื่อลดการก๊าซเรือนกระจกที่เหมาะสมของประเทศ โดยเน้นการส่งเสริมและพัฒนาเครื่องมือทางการเงินสู่กลไกลดโลกร้อน (Climate Finance) อย่างยั่งยืนและเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศนั้นๆ สำหรับโครงการ RAC NAMA นี้ รัฐบาลสหราชอาณาจักรร่วมกับรัฐบาลสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินผ่านกองทุน NAMA Facility โดยรัฐบาลผู้ให้ทุนทั้งสองเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นและให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสนับสนุนพลังงานสีเขียว นอกจากนี้ยังพร้อมที่จะส่งเสริมประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศพันธมิตรในการจัดตั้งกองทุน RAC NAMA Fund และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการโครงการและกองทุน RAC NAMA จะเป็นตัวอย่างในแง่ประสบการณ์และโอกาสในการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จะพัฒนามาตรการการเงินเพื่อลดโลกร้อนและพัฒนาเศรษฐกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำให้แก่ประเทศอื่นๆ ต่อไป

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
ปริยา วงศาโรจน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์
องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ)
โทรศัพท์ 02-661-9273 ต่อ 165 โทรสาร 02-661-9273 ต่อ 156
อีเมล pariya.wongsarot@giz.de