คุยกับ 9 นศ.ญี่ปุ่นจากฟูกุโอกะ ตะลุยฝึกงานกับนศ.วิศวลาดกระบัง ในไทย

0
1100
image_pdfimage_printPrint

ความรู้งอกงามและมิตรภาพผลิบานเมื่อนักศึกษาญี่ปุ่นจากแดนอาทิตย์อุทัย 9 คน เดินทางมาสร้างเสริมประสบการณ์ร่วมกับนักศึกษาไทย 11 วัน ที่ประเทศไทย ในโครงการ Intensive Thai Program : Peer Practical Training จากความร่วมมือของสถาบันเทคโนโลยีฟูกุโอกะ (Fukuoka Institute Technology- FIT) และ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ Japanese Student Service Organization (JASSO) สะท้อนถึงโลกที่เชื่อมต่อเป็นหนึ่งเดียวนั้นมีความหลากหลายของสีสัน วัฒนธรรม สังคมและเศรษฐกิจ วิศวกรรุ่นใหม่ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมที่ช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความสะดวกทันสมัยและปลอดภัยแก่ผู้คน จำเป็นต้องมีมุมมองรอบด้าน มีความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปของสังคมที่แตกต่างด้วย
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)กล่าวว่า มนุษย์เป็นหัวใจของการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรม วิศวกรรุ่นใหม่ในศตวรรษที่ 21 จึงต้องรอบรู้ และเข้าใจบริบทของสังคมและเพื่อนบ้านที่แตกต่าง เพื่อที่จะสามารถนำความรู้และเทคโนโลยีมาออกแบบและตอบสนองความต้องการที่แตกต่างเหล่านั้นอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากที่สุด พร้อมไปกับสร้างเสริมความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ หลังจากที่คณะวิศวลาดกระบัง สจล.มีความร่วมมือทางวิชาการกับสถาบันเทคโนโลยีฟูกุโอกะ หรือ Fukuoka Institute Technology(FIT) มาตั้งแต่ปี 2551 ปีนี้นับเป็นครั้งแรกที่ จัดโครงการ Intensive Thai Program : Peer Practical Training โดยสถาบัน เทคโนโลยีฟูกุโอกะส่งนักศึกษาญี่ปุ่น 9 คน มาฝึกงานร่วมกับเพื่อนนักศึกษาไทย 13 คน ในประเทศไทย เป็นเวลา 11 วัน เพื่อเปิดโลกทัศน์ให้คนรุ่นใหม่ของญี่ปุ่นและไทยมีโอกาสเรียนรู้เข้าใจอย่างลึกซึ้งในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน นำประสบการณ์ที่ได้จากการปฏิบัติจริงไปต่อยอดในการวิจัยและประกอบอาชีพในอนาคตด้วยมุมมองแบบพลเมืองโลก หรือ Global Citizen ผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรม Peer Internship การฝึกงานของนักศึกษาญี่ปุ่นและไทยจากวิศวลาดกระบัง และครุศาสตร์สาขาอุตสาหการ ต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างการอบรมและฝึกงานในองค์กรต่างๆ โดยแบ่งเป็น 4 กลุ่ม หลังจากนั้นนักศึกษาญี่ปุ่นและไทยก็ได้ร่วมกันทำโครงการเกษตรอาสา (New Generation Farmer Project) ที่วิทยาเขตชุมพร สจล.ในจังหวัดชุมพร เป็นระยะเวลา 3 วัน และได้ร่วมกิจกรรมทัศนศึกษาวิถีชีวิตวัฒนธรรมในกรุงเทพฯ เช่น ตลาดนัดสวนจตุจักร โรงละครสยามนิรมิต และอุทยานประวัติศาสตร์ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาอีกด้วย”

มร.เท็ตสุยา โอตานิ ฝ่ายกิจการต่างประเทศ สถาบันเทคโนโลยีฟูกุโอกะ กล่าวว่า “สถาบันเทคโนโลยีฟูกุโอกะ ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งมา 52 ปี ปัจจุบันมีนักศึกษากว่า 6,800 คน เรายึดมั่นในปรัชญา3 ด้านคือ ความรู้ ความเป็นมนุษย์ และตอบสนองต่อสังคม ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมานั้น นักศึกษาไทยไปฝึกงานที่ประเทศญี่ปุ่นฝ่ายเดียว ปีนี้เป็นโอกาสอันดีที่คนญี่ปุ่นรุ่นใหม่จะได้มาเติมประสบการณ์ต่างแดนในประเทศไทย เนื่องจากเราเห็นความสำคัญที่จะเสริมความสัมพันธ์ใกล้ชิดของเยาวชนญี่ปุ่นและไทย โดยพื้นฐานประเทศไทยและญี่ปุ่นเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันมาแต่โบราณจนถึงปัจจุบัน โลกที่เปลี่ยนไป นักศึกษารุ่นใหม่ของญี่ปุ่นและไทยจะได้เตรียมพร้อมและทำความเข้าใจยิ่งขึ้นเกี่ยวกับความเหมือนและความแตกต่างของโปรโตคอล วัฒนธรรมและค่านิยมที่จะช่วยให้มีจิตใจและทัศนคติที่เปิดกว้างมากขึ้นอันจะเป็นประโยชน์ต่ออนาคตของเขา เราเชื่อว่าความร่วมมือของเรานี้จะเป็นแบบอย่างสำหรับคนรุ่นใหม่ในนำแรงบันดาลใจไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งดีๆ รวมถึงได้เรียนรู้การยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และการเคารพวัฒนธรรมอื่น ด้านธุรกิจอุตสาหกรรมเองก็จะได้วิศวกรที่มีศักยภาพ มีความเข้าใจและสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น”

เคนชิโร่ อิวานากะ หนุ่มนักศึกษาญี่ปุ่นชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมเครื่องกลอัจฉริยะ สถาบันเทคโนโลยีฟุกุโอกะ (FIT) กล่าวว่า “เพราะอยากเติมฝันการเป็นวิศวกรในต่างประเทศ โครงการนี้เปิดโอกาสให้ผมเรียนรู้และมีมุมมองกว้างขึ้น ทั้งด้านวัฒนธรรม ค่านิยม รวมถึงได้ฝึกการปรับตัว เรียนรู้เรื่องใหม่ๆที่ไม่เคยรู้มาก่อนด้วยความช่วยเหลือจากเพื่อนนักศึกษาวิศวลาดกระบัง ผมยังได้ไปฝึกและดูงานบริษัทที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ได้รับคำแนะนำดีๆ จากรุ่นพี่วิศวกรญี่ปุ่นถึงชีวิตและแนวทางการทำงานในต่างแดน ซึ่งถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ตอนผมไปฝึกที่บริษัท ไทยโคอิโทะ (Thai Koito) ผู้ผลิตชิ้นส่วนประเภทโคมไฟรถยนต์ชั้นนำของโลก ใจกว้างมากครับที่ให้เราฝึกอบรมไลน์การผลิตชุดโคมไฟรถยนต์ อย่างเดียวกับที่พนักงานใหม่ของเขาฝึกเลย ได้ชมโรงงาน เรียนรู้กระบวนการผลิต และการออกแบบใบพัดลมสำหรับเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆที่ บ.นิสชินโบ เมคาโทรนิคส์ (ประเทศไทย) ช่วงที่วิศวกรชาวไทยเป็นผู้ให้ความรู้ เพื่อนๆ วิศวลาดกระบังก็ช่วยอธิบายเป็นภาษาอังกฤษให้เราได้เข้าใจ ตอนที่วิศวกรชาวญี่ปุ่นบรรยาย ผมก็อธิบายถ่ายทอดเป็นภาษาอังกฤษให้เพื่อนไทยเข้าใจ ทำให้ผมเข้าใจถึงจุดประสงค์ของการทำ Peer Practical Training ว่ามันมีประโยชน์มากจริงๆ ทั้งในด้านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสื่อสาร และมิตรภาพความสัมพันธ์ พวกเราได้ไปชมอุทยานประวัติศาสตร์ที่อยุธยาและชมหมู่บ้านญี่ปุ่นที่นั่น เพิ่งรู้ด้วยความทึ่งในเรื่องราวของ นางามาซา ยามาดะ และชาวญี่ปุ่นที่มาอาศัยในแผ่นดินไทยสมัยอยุธยา ขอบคุณพวกเขาที่ได้สานสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนไทยมาแต่สมัยโน้น ทำให้คนรุ่นเราในวันนี้ได้รับผลดีจากสิ่งที่เขาทำมา ”

คาโอรุ อิเคดะ หนุ่มแดนอาทิตย์อุทัย นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า สถาบันเทคโนโลยีฟุกุโอกะ (FIT) เล่าความประทับใจว่า “เข้าร่วมโครงการนี้เพราะผมชอบประเทศไทยมากครับ โดดเด่นทั้งศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ แหล่งธรรมชาติ อัธยาศัยเอื้อเฟื้อของคนไทย แล้วยังมีอุตสาหกรรมที่หลากหลาย สิ่งที่ผมได้เรียนรู้ระหว่างการฝึกงานในประเทศไทย กระบวนการทำงานจากประสบการณ์จริงทั้งจากการฝีกอบรมและประสบการณ์ตรงจากวิศวกรของบริษัท นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน รวมถึงได้รับการถ่ายทอดจากผู้บริหารบริษัทเรื่องการบริหารงานที่ทำให้บริษัทประสบความสำเร็จและมีชื่อเสียงไปทั่วโลก วิธีการสื่อสารกับวิศวกรไทยและพนักงาน สิ่งที่ผมประทับใจมาก คือ ระหว่างที่ไปฝึกและดูงานการออกแบบและผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ ผมเห็นทีมงานบริษัทพยายามประสานความแตกต่างทางความคิด วัฒนธรรมและภาษาที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานได้เป็นอย่างดี ผมเข้าใจดีว่าประเทศญี่ปุ่นจะอยู่โดยลำพังไม่ได้หากขาดความช่วยเหลือสนับสนุนจากประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ โดยเฉพาะประเทศไทยกับญี่ปุ่นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันมากๆครับ ในอนาคตผมอยากเป็นวิศวกรที่ทำงานในต่างประเทศเพื่อที่เราจะได้นำความรู้และประสบการณ์ความเชี่ยวชาญมาช่วยเหลือประเทศอื่นให้เติบโตไปพร้อมกันกับประเทศญี่ปุ่น”

คันจิ อาเบะ นักศึกษาปริญญาโท สาขาข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีฟุกุโอกะ (FIT) เล่า
ประสบการณ์ที่ได้ร่วมกิจกรรมให้ฟังว่า “ผมได้เรียนรู้เทคโนโลยีที่น่าสนใจ ได้เห็นการทำงานในบริษัทระดับโลกในเมืองไทย และการประยุกต์ความรู้ในชั้นเรียนมาเชื่อมโยงกับโลกที่เป็นจริง เพื่อนนักศึกษาไทยจากวิศวลาดกระบังได้ช่วยเหลือดียิ่งโดยเฉพาะช่วยสื่อสารในเรื่องที่เป็นข้อมูลทางเทคนิคซึ่งต้องใช้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งจึงจะสามารถแปลถ่ายทอดได้ ต้องยอมรับเลยว่าพวกเขามีความรู้เรื่องเทคนิควิศวกรรมต่างๆอย่างลึกซึ้ง สังเกตจากการที่เราได้พูดคุยเรื่องต่างๆ ร่วมกัน ในช่วงถาม-ตอบกับวิศวกรของบริษัท พวกเขาก็ตั้งคำถามกันได้ดีและมีประโยชน์ในการแบ่งปันความรู้อย่างมากแม้ว่าแต่ละคนในกลุ่มจะเรียนสาขาที่ต่างกันมา การถกเถียงกับนักศึกษาคนอื่นที่เรามีพื้นเพทางภาษาและวัฒนธรรมที่ต่างกันนั้นสุดยอดครับ เพราะทำให้เรามีโลกทัศน์ที่เปิดมากขึ้นจากความคิดเห็นที่หลากหลาย อีกอย่างที่ผมชื่นชมนักศึกษาไทย คือ เขามองโลกในแง่บวกและมีความคิดริเริ่มที่จะสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตลอดการฝึกอบรมเรื่อง 7 เครื่องมือควบคุมคุณภาพ (QC Tools) หลังจากเข้าร่วมโครงการนี้ที่ประเทศไทยกระตุ้นให้ผมรู้สึกว่าโลกภายนอกช่างมีความท้าทาย ผมพบว่าคนไทยใจดีมากและประเทศไทยก็อบอุ่นน่าอยู่ ถ้ามีโอกาสผมจะมาช่วยประเทศไทยครับ”

———————-