1

เก็บยาสะสม … เป็นภัยต่อสุขภาพแบบไม่รู้ตัว

เมื่อความเจ็บป่วยมาเยือน ทั้งโรคเรื้อรัง หรือโรคตามฤดูกาลทั่วไป ที่ทำให้ต้องไปพบแพทย์ หรือไปซื้อยารับประทานเอง การเจ็บป่วยแต่ละครั้งเมื่อแพทย์วินิจฉัยและจ่ายยาให้ผู้ป่วยโดยการคำนวณยาให้พอดีกับมวลร่างกาย น้ำหนัก และอาการของโรค  แต่บ่อยครั้งเมื่อผู้ป่วยรับยากลับบ้านไปแล้วอาจจะลืมกินยาในบางมื้ออาหารไปบ้าง  และเมื่ออาการป่วยไข้หายดีก็จะมียาบางจำนวนที่เหลือ ซึ่งหลายท่านก็มักจะเก็บยาที่เหลือไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน ด้วยความเข้าใจว่ายามเจ็บป่วยฉุกเฉินจะได้มียารับประทานเองโดยไม่ต้องไปพบแพทย์  แต่การเก็บสะสมยาที่เหลือเหล่านี้ก็มีทั้งคุณและโทษ  ซึ่งการนำยาที่เก็บสะสมไว้นานๆ มารับประทานโดยรู้เท่าไม่ถึงการอาจนำภัยมาสู่ร่างกายโดยไม่รู้ตัว

IMG_4824

เภสัชกรหญิง สุชีรา  ลีโทชวลิต  งานเภสัชกรรม  ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุ  ชลประทาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ  เผยว่า  การสะสมยาก่อให้เกิดผลดีหรือผลเสียมากกว่ากัน  ประการแรกต้องดูก่อนว่าสาเหตุที่ยาเหลือเพราะอะไร ถ้าเกิดจากการลืมกินยา  ย่อมสะท้อนให้เห็นว่าการกินยาและการดูแลตัวเองเพื่อรักษาโรคของเรานั้นไม่มีประสิทธิภาพ  ผลเสียจากการลืมกินยาหรือกินยาไม่ครบนั้นจะส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาว เช่น โรคเบาหวานเป็นโรคที่ระดับน้ำตาลในเลือดสูงเพราะร่างกายเอาน้ำตาลไปใช้ไม่ได้ แล้วเมื่อผู้ป่วยลืมกินยาหรือกินบ้างไม่กินบ้าง สิ่งที่เกิดขึ้นคือน้ำตาลในเลือดสูงมากขึ้นเรื้อรังเป็นเวลานาน  จะส่งผลให้ไตทำงานได้ลดลงเรื่อยๆ ตามระดับน้ำตาลในเลือด จนถึงระยะเวลาหนึ่งไตก็จะไม่สามารถทำงานได้อีกเลย  หรือเรียกว่าไตวายนั่นเอง  ซึ่งกว่าจะรู้ตัวก็สายเกินไปแล้ว  และสำหรับอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยมียาสะสมไว้มากโดยไม่ได้เกิดจากการลืมกินยา  แต่เกิดจากจากไปซื้อยาตามร้านขายยาเอง  ด้วยความคิดที่ว่าเห็นอาการดีขึ้นเลยลดปริมาณยา พออาการแย่ลงก็ไปซื้อยามากินเพิ่มเอง

การมียาสะสมไว้ในตู้ยาสามัญประจำบ้านสิ่งสำคัญที่ผู้ป่วยควรคำนึงคือ วันหมดอายุของยาและการเสื่อมสภาพของยา  หลายท่านคิดว่าการอ่านสลากที่แจ้งวันหมดอายุของยาก็เพียงพอแล้ว  แต่ในความเป็นจริงทางการแพทย์และเภสัชกรรมจะมีการแจ้งรายละเอียดข้อบ่งชี้การใช้ยาบางประเภทที่ประชาชนทั่วไปไม่ทราบ  ยาบางตัวที่เคยใช้กันมานาน  แต่อยู่ๆ ก็มีคำเตือนมีข้อห้ามใช้ออกมาใหม่  เช่น  ยาเสริมกระดูกสำหรับพ่นจมูกที่ชื่อ แคลซิโทนิน (calcitonin)  ที่เดิมทีใช้กันอย่างแพร่หลายในการเสริมสร้างกระดูกสำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน  แต่เมื่อเดือนสิงหาคม 2556 ก็มีประกาศจากองค์กรควบคุมยาและผลิตภัณฑ์ดูแลสุขภาพ (Medicines and Healthcare Products Regulatory Agency, MHRA) ของอังกฤษ ว่าให้ยกเลิกการใช้ยาแคลซิโทนิน (calcitonin)  เพราะมีรายงานว่าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง หรือแม้กระทั่งยาที่ไม่คิดว่าจะมีอันตรายแน่ๆ เช่น พาราเซตามอล (paracetamol)  ยาสามัญประจำบ้านที่รู้จักและใช้กันอย่างแพร่หลาย ก็มีหนังสือจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแจ้งเตือนบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับความเสี่ยงการเกิดกลุ่มอาการแพ้ยาทางผิวหนังที่เกิดได้น้อยแต่รุนแรงจนถึงเสียชีวิตได้  นอกจากนี้ยังมีอีกกรณีหนึ่งคือ ผู้ป่วยไปพบแพทย์หลายๆ โรงพยาบาล แพทย์ต่างคนต่างที่อาจจะจ่ายยาตัวเดียวกันสรรพคุณเหมือนกัน  แต่รูปร่างของยา รูปแบบของยาไม่เหมือนกัน  คนไข้คิดว่าเป็นยาที่มีสรรพคุณไม่เหมือนกัน  จึงกินยาของทุกโรงพยาบาลไปพร้อมๆ กัน  ส่งผลให้เกิดอาการเป็นพิษจากยาเกิดขนาดได้

ดังนั้นจึงขอแนะนำว่าอย่าเสียดายยาที่เหลือๆ สะสมไว้  อย่าเผื่อวันหลัง  อย่าเผื่อคนอื่น  หากยังมียาสะสมอยู่ในตู้ยาสามัญประจำบ้าน  ให้หมั่นนำยาทั้งหมดออกมาคัดเลือกดูว่ายาชนิดใดที่เป็นยาประจำ  ยาใดเหลือเป็นยาสะสม  แล้วจัดการทิ้งไป  หากยังไม่มั่นใจควรนำยาเหล่านั้นไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน หรือปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ที่รักษา  แต่วิธีที่ดีที่สุดคืออย่าให้มียาเหลือ อย่าให้มียาสะสม ด้วยการกินยาให้ถูกวิธี กินยาตามความจำเป็น หากมียาบางประเภทที่เหลือจากอาการที่ดีขึ้น เช่น ยาลดไข้ ก็ควรเก็บรักษาให้ถูกวิธีและใช้เมื่อจำเป็น  ก่อนใช้ยาต่อควรสังเกตสภาพยาและวันหมดอายุด้วยทุกครั้ง