1

เจาะลึก! เหตุใด โลจิสติกส์ฯSPU ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เมื่อเปลี่ยนโหมดสู่การเรียนการสอนออนไลน์ ช่วงวิกฤติ COVID-19

เมื่อความจำเป็นจากสถานการณ์ Covid-19 ทำให้ระบบการศึกษาต้องปรับการเรียนการสอนเข้าสู่โหมด Online อย่างเต็มรูปแบบ ความพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ทุกอย่างยังดำเนินต่อไปได้ เช่นเดียวกับที่วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน มหาวิทยาลัยศรีปทุม ก็ต้องมีการปรับตัว แต่เพราะเหตุใดจึงไม่ได้รับผลกระทบมากนักจากสถานการณ์ COVID-19
ซึ่งผู้ที่จะให้คำตอบได้ดีที่สุดคงหนีไม่พ้น ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธรินี มณีศรี คณบดีวิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน SPU ที่จะมาบอกเล่าเรื่องราวการเตรียมความพร้อมสู่โหมดการเรียนการสอนออนไลน์100% ในครั้งนี้
COVID-19 จุดเปลี่ยนสู่การเรียน 100% บนโลกออนไลน์ แต่ที่โลจิสติกส์ฯ SPU “เราทำกันมาก่อนหน้านี้” ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตจึงทำให้ได้รับผลกระทบไม่มากนัก
วิทยาลัยโลจิสติกส์ฯ เตรียมการเรื่องการสอน Online อย่างไร
ผศ.ดร.ธรินี มณีศรี คณบดี วิทยาลัยโลจิสติกส์และซัพพลายเชน SPU เล่าว่า ก่อนหน้าที่จะเกิดสถานการณ์ Covid-19 วิทยาลัยฯ ได้มีการจัดการเรียนการสอนในบางรายวิชาแบบเต็มรูปแบบที่เรียกว่า Super E-learning และในทุกรายวิชาจะต้องมีบทเรียน e-learning ร่วมด้วย ซึ่งดำเนินการมาก่อนหน้านี้แล้ว นอกจากนี้ยังมีรายวิชาที่ได้ดำเนินการผ่านระบบ ThaiMooc ซึ่งต้องผ่านการะบวนการรับรองมาตรฐานของเนื้อหารายวิชา ดังนั้นเมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นทำให้เราได้รับผลกระทบไม่มากนัก ด้วยระบบการเรียน และการสื่อสารกับนักศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์มาโดยตลอด
สิ่งที่ต้องปรับตัว เมื่อ Covid-19 ทำให้ต้องเรียน Online อย่างเต็มรูปแบบ
ผศ.ดร.ธรินี เล่าว่า สิ่งที่เราต้องปรับตัวเป็นอย่างแรกสำหรับอาจารย์ผู้สอน คือ กระบวนการเรียนการสอนผ่านออนไลน์เต็มรูปแบบที่จะต้องสร้างบรรยากาศที่ดีในห้องเรียน เพื่อให้นักศึกษาไม่รู้สึกเบื่อ ซึ่งความยากของอาจารย์ นอกจากการฝึกฝนใช้โปรแกรม/ระบบต่างๆ เข้าช่วยแล้ว อาจารย์ยังต้องคิดเทคนิควิธีการสอน และใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่ทำได้ยากว่าอยู่ในชั้นเรียน โดยจะทำอย่างไรให้นักศึกษามีความสนใจและตั้งใจฟังตลอดเวลา เนื่องจากการเรียนออนไลน์เต็มรูปแบบนั้นจะทำให้นักศึกษามีสมาธิจดจ่อกับเนื้อหาน้อยลง หากอาจารย์เตรียมการสอนที่ไม่ดึงดูดใจ
ในส่วนของนักศึกษาก็ต้องปรับตัวในเรื่องระเบียบวินัยและมารยาทในการเข้าห้องเรียน ถึงแม้จะเรียนออนไลน์ก็ควรเข้าตรงเวลา แต่งกายให้เหมาะสม หรือหากไม่สะดวกเรื่องการแต่งกายควรปิดกล้องและปิดไมโครโฟน เพื่อไม่เป็นการรบกวนเพื่อนๆ และนักศึกษาเองก็ควรรับรู้ เรียนรู้ และทำความเข้าใช้ระบบโปรแกรมหรือเครื่องมือต่างๆ ที่อาจารย์ใช้ในการสอน ต้องปรับตัวและเรียนรู้ที่จะร่วมใช้งานไปด้วยกันกับอาจารย์ผู้สอน
อุปสรรคที่พบเจอเมื่อต้องเรียน Online
อุปสรรคที่สำคัญที่สุด คือ อุปกรณ์เชื่อมต่อและระบบอินเทอร์เน็ต ซึ่งหากไม่มีหรือไม่พร้อมใช้งานจะทำให้การเรียนการสอนสะดุดไม่ต่อเนื่องทั้งในส่วนของผู้สอนและผู้เรียน ดังนั้นปัจจัยสำคัญนี้ ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ควรจะมีนโยบายร่วมกันในการสนับสนุนผลักดันให้มีพร้อมใช้งาน