หัวเว่ยเปิดตัวรายงานเชิงลึก “Smart City Framework and Guidance for Thailand: แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ต 2019”

0
426
image_pdfimage_printPrint

พร้อมสนับสนุนแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะของไทย

กรุงเทพฯ/ 26 สิงหาคม 2562 – หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ได้เปิดตัวรายงานเชิงลึก “Smart City Framework and Guidance for Thailand: แผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ต 2019” ในงาน ASEAN Smart Cities Network Conference & Exhibition 2019 ซึ่งจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ รายงานฉบับนี้จัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัลในจังหวัดภูเก็ต หนึ่งในเมืองนำร่องเมืองอัจฉริยะของไทย พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกและเสนอข้อแนะนำเกี่ยวกับกรอบการทำงานที่ครบวงจร อันเป็นสิ่งจำเป็นต่อการพลิกโฉมเมืองให้ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

หัวเว่ยจัดทำรายงานเชิงลึกเรื่องแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในจังหวัดภูเก็ตฉบับนี้ ร่วมกับโรแลนด์ เบอร์เกอร์ เพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลในการผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้น และพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้น โดยนำแนวคิดมาจากโครงการพัฒนาเศรษฐกิจ ไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งรัฐบาลประกาศในปี 2559 รายงานฉบับนี้มุ่งเน้นการนำเสนอโรดแมปเชิงปฏิบัติการที่จะช่วยสนับสนุนชุมชนให้พร้อมรองรับโลกดิจิทัลแห่งอนาคต

หัวเว่ยตระหนักดีว่าการพัฒนาแบบครบวงจรนั้นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน หัวเว่ยในฐานะตัวขับเคลื่อนและตัวเร่งให้เกิดการทรานสฟอร์มสู่ดิจิทัล ได้ทำการประเมินเชิงลึกและกรณีศึกษาด้านบริการและโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับเมืองอัจฉริยะที่พัฒนาสมบูรณ์แล้ว ดังนั้น รายงานฉบับนี้จึงให้ข้อมูลเชิงลึกที่ครอบคลุม พร้อมนำเสนอแผนการทำงานเพื่อเปลี่ยนภูเก็ตให้กลายเป็นเมืองอัจฉริยะโดยสมบูรณ์ภายในปี 2563

รายงานเชิงลึกฉบับนี้เน้นแผนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่วิจัยมาเพื่อจังหวัดภูเก็ตโดยเฉพาะ อันประกอบด้วยธุรกิจบริการ 5 ประเภทและตัวขับเคลื่อนบริการ 8 ประการสำหรับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะสำหรับภูเก็ตและทุกจังหวัดในประเทศไทย บริการที่กล่าวถึงในรายงานฉบับนี้ ได้แก่ พลังงานและสาธารณูปโภคอัจฉริยะ การขนส่งอัจฉริยะ สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ ความเป็นอยู่อัจฉริยะ และเศรษฐกิจอัจฉริยะ ส่วนตัวขับเคลื่อนประกอบไปด้วย การปกครองอัจฉริยะ โครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะ และประชากรอัจฉริยะ

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวถึงความร่วมมือจากคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และองค์กรอีกมากมายทั้งภาครัฐฯ และเอกชน ที่ทำให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ เกิดขึ้นแล้วใน 6 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต เชียงใหม่ ขอนแก่น และอีก 3 จังหวัดในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) “ในฐานะจังหวัดนำร่อง ภูเก็ตต้องมีแผนการทำงานที่ชัดเจนและโมเดลการจัดการที่ยั่งยืน จึงจะสามารถพลิกโฉมเป็นเมืองอัจฉริยะได้ภายในปี 2020 รายงานเชิงลึกฉบับนี้จะช่วยอำนวยความสะดวกให้การพัฒนาในภูเก็ตและในเมืองอื่น ๆ”

“เรานำแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานระดับโลกมาใช้วิเคราะห์ปัญหาและข้อกำหนดต่าง ๆ ในจังหวัดภูเก็ตสำหรับการพัฒนาแผนการทำงานเพื่อสร้างเมืองอัจฉริยะ การได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายฝ่ายช่วยให้เราสามารถเสนอข้อแนะนำให้ตรงกับความต้องการของภูเก็ตและประชาชนในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี” นายชาญชัย ถนัดค้าตระกูล หัวหน้าสำนักงาน บริษัท โรแลนด์ เบอร์เกอร์ จำกัด ประเทศไทย กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์

มร. เติ้ง เฟิง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย กล่าวระหว่างการสัมภาษณ์ว่า “หัวเว่ยสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมในทุกระดับ ประเทศไทยกำลังจะเป็นประเทศแรก ๆ ในภูมิภาคที่พัฒนาแผนเมืองอัจฉริยะ เราพร้อมให้คำแนะนำและโซลูชันที่จะช่วยให้การพัฒนาภูเก็ตและจังหวัดอื่น ๆ ในประเทศไทยลุล่วงไปได้อย่างราบรื่น”

ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ และด้วยการทำงานที่มีประสิทธิภาพและการร่วมแรงร่วมใจจากทุกฝ่าย เราจะก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดนิ่งเพื่อสร้างโลกอันชาญฉลาดที่เชื่อมต่อกันอย่างสมบูรณ์