1

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี จัดแถลงข่าวโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร

สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี (สสก.2 จ.ราชบุรี) จัดงานแถลงข่าว “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอมดอนมะโนรา ตำบลดอนมะโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยมีนายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 นายณัฐภัทร์ เอมอ่อม นายอำเภอบางคนที นายอาคม ศรีประภาพงศ์ เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม และนายพงศกร โรจน์วิไลย ประธานโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนครบวงจร ร่วมแถลงข่าวดังกล่าว
นายมงคล จอมพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จังหวัดราชบุรี เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมการเกษตร ได้จัดทำโครงการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรเชิงพื้นที่ ในปีงบประมาณ 2562 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาการดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเกษตรกร ให้เกษตรกรรุ่นใหม่มีบทบาทในกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งการให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ซึ่งทางจังหวัดสมุทรสงคราม ได้รับการคัดเลือกให้เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินการ ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะพร้าวอ่อนน้ำหอมดอนมะโนรา อำเภอบางคนที จังหวัดสมุทรสงคราม โดยใช้หลักชุมชนมีส่วนร่วม ตั้งแต่ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมวางแผน ร่วมลงมือทำ ร่วมรับผล ขับเคลื่อนโดยเกษตรกรรุ่นใหม่ หรือ Young smart farmer ในชุมชน เน้นกระบวนการทำงานโดยยึดพื้นที่เป็นหลัก และทำงานแบบบูรณาการร่วมกันทั้งภาครัฐและภาคประชาชน
สสก.2 จ.ราชบุรี ได้มีส่วนร่วมกับจังหวัดสมุทรสงคราม และอำเภอบางคนที ในการวิเคราะห์ข้อมูลของพื้นที่และจัดทำเวทีชุมชนร่วมกัน เพื่อกำหนดรูปแบบวางแผนการบริหารจัดการกิจกรรมต่าง ๆ จึงเกิดเป็น “โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอม” ซึ่งประกอบไปด้วย 6 กิจกรรม ดังนี้
กิจกรรมที่ 1 ส่งเสริมประสิทธิภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอม
กิจกรรมที่ 2 การบริหารจัดการศัตรูพืช
กิจกรรมที่ 3 จัดทำจุดเรียนรู้การผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอมครบวงจร
กิจกรรมที่ 4 ปรับเปลี่ยนพันธุ์มะพร้าวในพื้นที่
กิจกรรมที่ 5 ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในชุมชน
กิจกรรมที่ 6 การบริหารจัดการน้ำ
ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการครบถ้วนแล้วทุกกิจกรรม โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการกลุ่ม และการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด มีการเชื่อมโยงกลุ่มผู้ผลิตกับตลาด ตามนโยบาย “การตลาดนำการเกษตร” เกิดการพัฒนาคุณภาพและเพิ่มปริมาณผลผลิตมะพร้าวอ่อนน้ำหอมให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วมขององค์กรเกษตรกรในชุมชน และเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยมีกองทุนหมุนเวียนเพื่อดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เสริมสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและชุมชนฐานรากให้มีความมั่นคง เกิดความยั่งยืนในอาชีพ โดยมีการดำเนินการโดยชุมชนเพื่อชุมชน และได้รับการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่ในระดับตำบล อำเภอ จังหวัดและเขต ตลอดจนจากหน่วยงานภาคีต่างๆ นายมงคล จอมพันธ์ กล่าว