1

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ

สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ ประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำ ตามแนวพระราชดำริ และโครงการ “พี่นำน้องรักษ์น้ำตามแนวพระราชดำริ” จัดโดยสถาบันน้ำฯ และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย

 

  • ประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริฯ จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 มีชุมชนรวมทั้งสิ้น 72 ชุมชน เป็นชุมชนต้นแบบประสบความสำเร็จจากการน้อมนำแนวพระราชดำริไปใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน
  • พร้อมนำเยาวชนผู้ชนะเลิศจากโครงการ “พี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ” เข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศ

 

กรุงเทพฯ (23 กุมภาพันธ์ 2555) – เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร    (องค์การมหาชน) (สสนก.) ร่วมกับมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย และหน่วยงานอื่นที่ร่วมสนับสนุนโครงการ นำผู้แทนจากชุมชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศและรองชนะเลิศประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำตามแนวพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัลชนะเลิศของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และถ้วยรางวัลรองชนะเลิศของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีจากประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริฯ ครั้งที่ 4 ประจำปี 2553 ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 4 ติดต่อกัน รวม 72 ชุมชนที่เข้าร่วมการประกวด

  • รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ชุมชนบ้านคลองเรือ ต.ปากทรง อ.พะโต๊ะ จ.ชุมพร ชุมชนพื้นที่      ป่าต้นน้ำ ซึ่งอพยพมาจากหลายจังหวัดเพื่ออยู่และทำกิน เปลี่ยนมารวมกลุ่มร่วมฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ฟื้นคืนน้ำกลับมา จัดทำฝายชะลอความชุ่มชื้น และฝายน้ำล้นเป็นถนนลดระดับ จัดสรรน้ำตามการใช้ประโยชน์ เปลี่ยนจากพืชเศรษฐกิจเชิงเดี่ยวเป็นการทำเกษตรผสมผสาน (เกษตร 4 ชั้น) เพื่อให้มีรายได้ทุกฤดูกาล ดูแลรักษาคุณภาพน้ำ จัดทำธนาคารต้นไม้ เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ
    • รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายแม่หาด ต.บ้านหลวง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ ชุมชนพื้นที่ป่าต้นน้ำ บริหารจัดการน้ำด้วยการขุดลำเหมืองหินเลาะเชิงดอยความยาว 9,800 เมตร (เฉพาะเหมืองหลัก) โดยแรงงานของเกษตรกร ใช้ระยะเวลา 5 ช่วงอายุคน จนมีน้ำตลอดปี จัดสรรน้ำส่งให้พื้นที่เกษตร ด้วย “แต” และ “ต๋าง” ส่งน้ำผ่านเหมืองซอย ทำนาอินทรีย์ ทำปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์น้ำ รวมทั้งอนุรักษ์ป่าต้นน้ำและสร้างฝายชะลอน้ำ
    • รางวัลที่ ๓ ได้แก่ เครือข่ายลุ่มน้ำประแสร์ อ.แกลง จ.ระยอง ชุมชนพื้นที่ป่าชายเลน-         น้ำกร่อย รวมกลุ่มเพื่อบริหารจัดการน้ำแม่น้ำประแสร์ ด้วยการบำบัดน้ำเสียโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ และฟื้นฟูทรัพยากรป่าชายเลน พัฒนาเป็น “เครือข่ายลุ่มน้ำประแสร์” 5 ตำบล และขยายสู่เยาวชนนักสืบสายน้ำ และป่าชายเลน เกิดผลคือพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นและสมบูรณ์ที่สุดของจังหวัดระยอง ทรัพยากรสัตว์น้ำเพิ่มขึ้น ทำประมงพื้นบ้านและกระชังปลาเป็นอาชีพหลักของชุมชน

และในโอกาสเดียวกันนี้ สสนก. และมูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย ได้นำทีมผู้ชนะเลิศจากโครงการ “พี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ” เข้าเฝ้าฯ เพื่อรับพระราชทานรางวัลถ้วยชนะเลิศจาก    สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ผู้ชนะเลิศจากโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำฯ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานรางวัล

โครงการ “พี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ” เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม “รักน้ำ” ที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนน้อมนำแนวพระราชดำริด้านการจัดการอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปรับใช้ในการจัดการทรัพยากรน้ำของชุมชน โดยโคคา-โคลา ได้ให้การสนับสนุนการขยายองค์ความรู้ด้านการจัดการทรัพยากรน้ำที่กลุ่มเยาวชนและคณะครูได้สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อนำไปสู่การขยายผลสร้างเครือข่ายการเรียนรู้เรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างโรงเรียนและชุมชน และขยายเครือข่ายความร่วมมือเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำ ในภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ และชุมชน โดยรางวัลชนะเลิศได้แก่ โรงเรียนมกุฎเมืองราชวิทยาลัย จังหวัดระยอง จากผลงานโครงการ “พัฒนาและขยายเครือข่ายอาสาสมัครนักสืบสายน้ำรักลุ่มน้ำประแส” ซึ่งกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครนักสืบสายน้ำ ดำเนินกิจกรรมสำรวจและเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงคุณภาพน้ำ ภายใต้ความร่วมมือจากทั้งชุมชน ภาครัฐ และเอกชน ขณะเดียวกันก็ขยายเครือข่ายออกสู่โรงเรียนใกล้เคียง และบูรณาการหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเข้ากับการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่ที่เคยมีมาแต่เดิม

 

ดร. สุเมธ  ตันติเวชกุล ประธานกิตติมศักดิ์  สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร    (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “สสนก. และมูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ได้ร่วมกันจัดการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชน ตามแนวพระราชดำริฯ มาอย่างต่อเนื่องจนขยายผลเกิดเป็นชุมชนเครือข่ายที่น้อมนำแนวพระราชดำริด้านการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนของพระบาทสมเด็จ     พระเจ้าอยู่หัว และนอกจากนี้การส่งเสริมเยาวชนให้น้อมนำแนวพระราชดำริไปปรับใช้ในการค้นหาปัญหา วิธีการแก้ปัญหา และเข้าใจถึงกระบวนต่างๆ  เข้าใจถึงความสำคัญของชีวิตและสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัว และรู้จักการบริหารจัดการน้ำด้วยปัญญาจนประสบความสำเร็จ ก็ถือเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและยินดีอย่างยิ่ง ทั้ง 2 กิจกรรมนี้จะกลายเป็นแบบอย่างที่ดีในการจัดการทรัพยากรน้ำระดับชุมชนให้กับชุมชนอื่นๆ ต่อไป”

 

นายพรวุฒิ สารสิน รองประธานกรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า กิจกรรมการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ และโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ อยู่ภายใต้โปรแกรม “รักน้ำ” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิด “Live Positively ร่วมทำสิ่งดีๆ เพื่อเรา เพื่อโลก” เป็นความมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องของกลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา ในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วยบริษัท โคคา-โคลา (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทผู้ผลิตและจัดจำหน่ายทั้งสองบริษัทคือ บริษัท ไทยน้ำทิพย์ จำกัด และ บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) ที่จะสร้างสรรค์สิ่งดีๆ อย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ

 

“กลุ่มธุรกิจโคคา-โคลา มีความมุ่งมั่นต่อการใช้ทรัพยากรน้ำอย่างมีความรับผิดชอบ โดยมีเป้าหมาย คือ การคืนน้ำในปริมาณเทียบเท่ากับที่นำมาผลิตเครื่องดื่มต่างๆ กลับสู่ชุมชนและธรรมชาติอย่างปลอดภัยและยั่งยืน เรามุ่งสนับสนุนการสร้างชุมชนยั่งยืนในทุกพื้นที่ที่เราเข้าไปดำเนินธุรกิจ เพื่อให้ธุรกิจและชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างเกื้อกูล และพัฒนาสู่การเป็นสังคมที่เข้มแข็ง มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพชุมชน โดยให้การสนับสนุนโครงการอนุรักษ์แหล่งน้ำและโครงการด้านน้ำในชุมชนต่างๆ ดังเช่นทั้ง 2 โครงการนี้” นายพรวุฒิ กล่าว

 

นายฆอเฮ การ์ดูโน กรรมการ มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย กล่าวว่า จากการดำเนินกิจกรรมการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนตามแนวพระราชดำริ และโครงการพี่นำน้องรักษ์น้ำ ตามแนวพระราชดำริ ที่มูลนิธิ โคคา-โคลา ประเทศไทย ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องนั้นสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นของโคคา-โคลา ในการส่งเสริมการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนแก่ชุมชนโดยเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ในระดับเยาวชน และต่อยอดมายังการสร้างเครือข่ายชุมชน อีกทั้งยังได้ขยายการสนับสนุนชุมชนที่ผ่านการประกวดการจัดการทรัพยากรน้ำชุมชนฯ ใน โครงการ “ชุมชนแห่งการเรียนรู้และอยู่ดีมีสุข” ซึ่งเป็นโครงการที่มูลนิธิโคคา-โคลา ประเทศไทย ร่วมมือกับ สสนก. เพื่อสนับสนุนการวางแผนและการดำเนินกิจกรรมการจัดการทรัพยากรแหล่งน้ำ โดยการใช้ระบบค้นหาพิกัด หรือจีพีเอสอันชาญฉลาด รวมถึง ระบบโทรมาตรและเทคโนโลยีภาพถ่ายจากดาวเทียมมาช่วยในการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น สิ่งเหล่านี้จะแบบอย่างที่ดีแก่เครือข่ายชุมชนอื่นๆ ที่สามารถนำไปต่อยอดการอนุรักษ์แหล่งน้ำ และการบริหารจัดการทรัพยาน้ำอย่างเป็นระบบ และยั่งยืนต่อไป”