พลังแห่งความร่วมมือของครู สำคัญอย่างไรต่อการเชื่อมต่อชุมชนการเรียนรู้ที่แตกต่าง

0
500
image_pdfimage_printPrint

การดำเนินชีวิตของคนยุคดิจิทัลต้องใช้ศักยภาพที่แตกต่างของตนให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการประกอบอาชีพ ดังนั้นการจัดการเรียนรู้ที่เน้นการส่งเสริมและพัฒนาให้ผู้เรียนได้พัฒนาตนเองตามความสามารถที่แตกต่างระหว่างบุคคล คือได้ค้นพบและเพิ่มพูนศักยภาพที่แตกต่างระหว่างตนเองกับผู้อื่น อันนำไปสู่การทำงานร่วมกัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการสร้างความเข้มแข็งแก่สังคมและประเทศครูถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อความแตกต่างระหว่างบุคคล ช่วยสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนได้ค้นพบและแสดงออกถึงศักยภาพของตนเอง
Dr.Camilla Highfield ผู้อำนวยการพัฒนาและการเรียนรู้เชิงวิชาชีพ คณะครุศาสตร์ จาก The University of Aucklandประเทศนิวซีแลนด์กล่าวในงานประชุมประชุมนานาชาติ มหกรรมทางการศึกษาเพื่อพัฒนาวิชาชีพครู ครั้งที่ 11 (EDUCA 2018) ที่อิมแพค เมืองทองธานี เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “Value of Teachers” หรือ “คุณค่าของครู” ในหัวข้อ “พลังแห่งความร่วมมือของครูสำคัญอย่างไร: กลยุทธ์สร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้แบบนิวซีแลนด์” ว่าในห้องเรียนที่มีความแตกต่าง เหมือนตัวแทนของสังคมที่มีความหลากหลาย แต่จะทำอย่างไรให้ความเฉพาะตัวของแต่ละบุคคลได้รับการพัฒนาและประสานกันได้อย่างเข้มแข็ง นิวซีแลนด์จึงสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้ขึ้นเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมทางการศึกษาที่ดี โดยการรวมพลังแห่งความร่วมมือจาก ครู นักเรียน นักศึกษา และผู้ที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนเพื่อผลการเรียนรู้ที่ดีที่สุดสำหรับนักเรียน ทั้งการพัฒนาความสามารถของนักเรียนเป็นรายบุคคล หลักสูตรที่ส่งเสริมการเรียนรู้ที่เฉพาะตัว รวมทั้งมีการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานระหว่างครูเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนรู้ที่ดีและเหมาะสมกับนักเรียนแต่ละคนโดยผู้บริหารให้ความสำคัญกับการรักษามาตรฐานด้านการศึกษาอยู่เสมอ มีระบบจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ มีกระบวนการพัฒนานักเรียนครอบคลุมเชื่อมต่อทั้งเส้นทางการศึกษา ในการรวมเส้นทางการเรียนรู้จากปฐมวัยจนจบการศึกษาให้เป็นเส้นทางเดียวกัน ให้การสนับสนุนในช่วงการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้นักเรียนแต่ละคนเห็นเส้นทางอาชีพของตนเองได้ โดยร่วมมือกับครอบครัว ภาคอุตสาหกรรม กลุ่มชาติพันธุ์ และชุมชน เป็นหนึ่งเดียวกัน และสร้างค่านิยมความเชื่อในสังคมของนักเรียน ทำงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมเพื่อพัฒนานักเรียน เป็นภาคส่วนหนึ่งกับกลุ่มชาติพันธุ์ในสร้างการเรียนรู้ มีความใกล้ชิดกับชุมชนและมีข้อตกลงในการสร้างกาเรียนรู้ของนักเรียนร่วมกัน พร้อมส่งเสริมการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ร่วมกันด้วยการแบ่งปันทรัพยากรที่มี ประสานการวางแผนและปรับปรุงพัฒนาแผนร่วมกัน และมีการส่งต่อการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ
ในการนี้หน่วยงานการศึกษานิวซีแลนด์ยังได้จัดสัมมนาพิเศษ “Teaching as Inquiry: เครื่องมือการเรียนรู้แบบมืออาชีพสำหรับครูผู้สอน” โดย Maree Brannigan จาก Massey University กล่าวว่า ครูเป็นหัวใจหลักด้านการศึกษา โอกาสและความก้าวหน้าของนักเรียนที่จะประสบความสำเร็จในอนาคต ต้องผ่านการทำแบบฝึกหัดและการฝึกปฏิบัติจนเกิดความเชี่ยวชาญ ซึ่งครูที่ดีจะต้องมีแนวทางในการสอนที่ชัดเจน มีการสำรวจความต้องการของนักเรียน เริ่มต้นด้วยคำถาม สร้างความรู้ แล้วนำมาวางแผนการเรียนการสอนเพื่อกระตุ้นให้เด็กสามารถคิดได้รอบด้าน และมีความคิดสร้างสรรค์ มีความเป็นตัวของตัวเอง พร้อมปลูกฝังให้นักเรียนช่วยเหลือซึ่งกันและกันในด้านการเรียน และการปฏิบัติงานร่วมกันเป็นทีม
และ “ถอดรหัสการศึกษานิวซีแลนด์สู่การเตรียมผู้เรียนสำหรับอนาคต” โดยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษานิวซีแลนด์ บอกว่าหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติของนิวซีแลนด์ (New Zealand Curriculum) มุ่งเน้นสร้างทักษะวิชาชีพในอนาคตของนักเรียนเป็นสำคัญ โดยให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางของการเรียนการสอน ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและให้ขอบเขตแก่โรงเรียนในการนำหลักสูตรการการศึกษาแห่งชาติมาปรับใช้ในรูปแบบที่เหมาะกับโรงเรียน เพื่อนักเรียนจะได้เรียนในหลักสูตรที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวิถีชุมชนด้วย
นอกจากนี้ หลักสูตรการศึกษาแห่งชาติของนิวซีแลนด์ (New Zealand Curriculum) ยังมุ่งเน้นการที่ครูให้ความสำคัญกับเด็กแต่ละคนเป็นการส่วนตัว ไม่ได้มองรวมๆ แต่ดูว่าเด็กแต่ละคนเหมาะกับอะไร มีศักยภาพอะไร ชอบอะไร โดยวางรากฐานมาตั้งแต่เข้าเรียน เมื่อนักเรียนโตขึ้นก็จะเลือกอะไรที่เหมาะกับตัวตนของตัวเอง ทำให้นักเรียนมีเส้นทางการศึกษาที่ชัดเจนต่อการประกอบอาชีพ โดยครูของนิวซีแลนด์จะมีบทบาทในการเตรียมความพร้อมนักเรียน 3 ด้านด้วยกันคือ

1.ครูคือใคร ครูคือผู้สร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน ให้กล้าคิดกล้าแสดงออก และกระตุ้นให้นักเรียนดึงศักยภาพของตัวเองออกมา โดยใช้พื้นที่การเรียนรู้ภายในโรงเรียนและชุมชนพัฒนาความเป็นตัวตนของนักเรียน
2.ครูทำอะไร ครูให้ทักษะที่เตรียมนักเรียนให้พร้อมในการออกไปเผชิญกับโลกภายนอก
3.ครูทำอย่างไร ครูจะต้องสร้างความท้าทายให้นักเรียนค้นพบศักยภาพและตัวตนของตนเองผ่านการใช้หลักสูตรที่สนับสนุนให้นักเรียนดึงศักยภาพนักเรียนออกมา โดยระบบการศึกษานิวซีแลนด์เอื้อต่อการเตรียมศักยภาพของเด็กตั้งแต่ประถมขึ้นไปจนถึงมัธยมศึกษา มุ่งเน้นวางรากฐานนักเรียนในวิชาพื้นฐานทั่วไปช่วงประถมศึกษาจนถึงระดับมัธยมต้น และในช่วงมัธยมปลายนักเรียนจะเรียนวิชาหลักบางส่วนและเลือกวิชาเฉพาะตามความสนใจที่เหมาะสมกับความเป็นตัวตนของเขา โดยมีทางเลือกให้มากกว่า 40 วิชา ที่จะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นพบตนเองและดึงศักยภาพของตนเองมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ

ผู้สนใจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการศึกษานิวซีแลนด์ ดูได้ที่ www.studyinnewzealand.govt.nz